Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.51 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ  35.58 บาทต่อดอลลาร์  จับตาถ้อยแถลงประธานเฟด

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน (แกว่งตัวในช่วง 35.50-35.66 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ ก่อนที่เงินบาทจะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และเฟดก็มีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าราว -1% ส่งผลให้ ทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ต่างปรับตัวลดลง (นอกจากผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ล่าสุดช่วยจำกัดการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ) และช่วยหนุนให้ ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง 

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลง จากผลการประมูลบอนด์ล่าสุดที่ไม่ได้สะท้อนถึงความกังวลต่อปริมาณการออกบอนด์ของรัฐบาลสหรัฐฯ มากนัก กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และเฟดก็มีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยลง แม้ว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนจะให้ความเห็นว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ทั้งนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ได้หนุนให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.28% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลงต่อเนื่อง -0.16% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังยอดการส่งออกของจีนล่าสุดออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มพลังงาน Total Energies -2.3% กลุ่มเหมืองแร่ Rio Tinto -2.0% และกลุ่มยานยนต์ BMW -1.6% ซึ่งจะอ่อนไหวต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นต่อของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth SAP +2.4%, ASML +1.3% หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวทยอยย่อตัวลง 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผลการประมูลบอนด์ล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ไม่ได้สะท้อนความกังวลต่อแนวโน้มการออกบอนด์ที่สูงขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ มากนัก รวมถึง มุมมองของผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงมองว่า เฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และเฟดอาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงราว -1% ในปีหน้า ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 4.57% ทั้งนี้ ในระยะสั้น หากผู้เล่นในตลาดไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดไปมากนัก เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจทรงตัวเหนือระดับ 4.50% และยังมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์อาจปรับตัวขึ้นได้บ้าง ซึ่งต้องรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรอาศัยจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 105.5 จุด (กรอบ 105.4-105.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,975 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากมีจังหวะย่อตัวลงทดสอบโซน 1,964 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าของเงินบาทเช่นกัน

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด (ตลาดจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 21.15 น.ตามเวลาประเทศไทย) โดยมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้พอสมควร เนื่องจากในสัปดาห์นี้แทบจะไม่มีรายข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ 

ส่วนในฝั่งยุโรป เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวรวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบไปก่อน ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ หรือ จนกว่าตลาดจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ชัดเจน นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย ก็ยังมีความผันผวน เพราะถึงแม้ว่า ในฝั่งตลาดบอนด์จะเริ่มเห็นการกลับเข้าซื้อบอนด์ไทยของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น แต่ฝั่งตลาดหุ้น นักลงทุนต่างชาติอาจเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip and Sell on Rally เนื่องจากมุมมองผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ยังมองว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย อาจเป็นการรีบาวด์ในระยะสั้นเท่านั้น ขณะเดียวกัน หากเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ก็อาจเผชิญแรงซื้อเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้นำเข้า ซึ่งอาจชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ได้บ้าง

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของตลาดการเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด และผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจมากว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า เริ่มตั้งแต่การประชุมเดือนพฤษภาคม ทำให้ หากถ้อยแถลงของประธานเฟด ทำให้ตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองดังกล่าว หรือ ผลการประมูลบอนด์สะท้อนความกังวลแนวโน้มการออกบอนด์ของสหรัฐฯ มากขึ้น ก็อาจทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่า พร้อมกับ กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้
 
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินและสถานการณ์สงคราม ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้งมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.35-35.65 บาท/ดอลลาร์

#ค่าเงินบาท #เฟด #ดอกเบี้ย #กรุงไทย