เมื่อวันที่ 6 พ.ย.66  นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ อดีต กมธ.การสาธารณสุขและคณะทำงานด้านสาธารณสุขพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า

“ผมไม่สูบบุหรี่ ไม่สนับสนุนให้ใครสูบบุหรี่ และเคยประสบปัญหายากลำบากในการช่วยให้คนไข้เลิกสูบบุหรี่ ทำให้ไม่เคยสนใจประเด็นเกี่ยวกับนโยบายควบคุมยาสูบเลย จนกระทั่งเมื่อปี 2562 ได้โอกาสรับฟังปัญหาของเกษตรกรชาวไร่ยาสูบหลังการปรับโครงสร้างภาษียาสูบครั้งใหญ่ในปี 2560 เพราะโรงงานยาสูบไทยรับซื้อยาสูบตามโควต้าลดลงเพราะบุหรี่ไทยที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบขายได้น้อยลง

เมื่อดูตัวเลขผู้สูบบุหรี่ที่แม้จะมีการรณรงค์ด้วยงบประมาณมากมายในแต่ละปีก็ไม่ได้ลดลง.... แล้วจากปี 2560 มาถึงปี 2562 คนสูบบุหรี่เขาไปสูบบุหรี่อะไรทำไมบุหรี่ไทยถึงมียอดขายตกลงมากจนกระทบกับโควต้ารับซื้อใบยาสูบ ???

มีข้อมูลที่น่าตกใจว่า การปรับอัตราภาษีเป็น 2 ขั้น ให้บุหรี่ที่ราคาขายไม่เกิน 60 บาทเสียภาษีซองละ 20% แต่ถ้าขายราคาสูงกว่า 60 บาทจะต้องเสียภาษี 40%

ปัญหาเริ่มขึ้นจากมีบุหรี่นอกหลายยี่ห้อที่เดิมเคยขายอยู่ ราคาเกินซองละ 60 บาทได้ลดราคาลงมาเหลือ 60 บาทเพื่อเสียภาษีแค่ 20%

มีบางยี่ห้อลดราคาจากซองละ 98 บาทมาขายซองละ 60 บาท เป็นการลดราคาลงมาถึงซองละ 38 บาท !!!!

และมีอีกบางยี่ห้อที่ลดราคาลงมาซองละ 10 กว่าบาท

คำถามคือ ทำไมการลดราคาโหดร้ายแบบนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบถึงนิ่งเฉย ?!!!

เป็นที่มาของการที่บุหรี่นอกมาตีตลาดบุหรี่ราคาถูกจากเดิมที่ตลาดนี้เป็นของโรงงานยาสูบไทย และเป็นตลาดของผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่

และ ในขณะเดียวกันนั้นเองก็เป็นช่วงที่ตลาดบุหรี่เถื่อนลักลอบนำเข้าเริ่มขยายตัวขึ้น จากเดิมที่มีเฉพาะพื้นที่ตะเข็บชายแดนก็เริ่มขยายตลาดมากขึ้นด้วยราคาที่ถูกมากกว่าบุหรี่ถูกกฏหมายอย่างมาก

มาซ้ำเติมความรุนแรงของสถานการณ์การควบคุมยาสูบอีกครั้งด้วยการขึ้นภาษียาสูบครั้งใหม่ในเดือนตุลาคม 2564

ด้วยปรับภาษีต่อมวนเพิ่มขึ้นจาก 1.20 บาท เป็น มวนละ 1.25 บาท

และ ปรับอัตราภาษีใหม่จากเดิมด้วยการให้บุหรี่ที่ขายในราคาต่ำกว่าซองละ  72 บาท เสียภาษี 25% และหากขายราคาเกินซองละ 72 บาทต้องเสียภาษี 42%

เป็นการขยับให้ตลาดบุหรี่ราคาถูกมีราคาสูงขึ้นมากกว่าการขยับเพิ่มขึ้นของบุหรี่ในตลาดบน

ซึ่งแน่นอนว่าผู้สูบบุหรี่ในกลุ่มราคาถูกนี้มีความอ่อนไหวต่อราคาที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเนื่องจากเป็นผู้มีรายได้น้อยเป็นส่วนมาก.... ผลก็คือ ตลาดบุหรี่ลักลอบนำเข้ามีการเติบโตขึ้นอย่างมาก

ประกอบกับการเติบโตขึ้นของตลาดบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการคาดการณ์จากหน่วยงานที่เคยมาให้ข้อมูลในกรรมาธิการสาธารณสุขว่าตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในไทยอาจมีมูลค่าสูงถึงปีละ 5,000 ล้านบาท ยิ่งส่งผลต่อการควบคุมยาสูบของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

บทเรียนที่เราได้รับในระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมากับการควบคุมการบริโภคยาสูบที่ล้มเหลว คือ

การใช้มาตรการทางภาษีอย่างเดียวไม่สามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้ และยังเป็นการตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยการสร้างผลกระทบต่อการเพิ่มรายจ่ายของผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบไม่ได้

และเป็นการส่งเสริมธุรกิจผิดกฏหมายทั้งการขายบุหรี่เถื่อน และการขายบุหรี่ไฟฟ้าที่หลายองค์กรออกมาสนับสนุนการแบนบุหรี่ไฟฟ้าทั้งที่เรารู้กันอยู่ว่าเป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล

การออกนโยบายที่คำนึงถึงเหตุผลด้านสุขภาพด้วยการตามใจหมอ ไม่ฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้เกี่ยวข้องในส่วนอื่นๆ

และ ไม่สร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health literacy) ล้วนส่งผลให้การควบคุมการบริโภคยาสูบล้มเหลว

ยังดีที่สภาชุดที่ผ่านมามีกรรมาธิการหลายชุดได้เบรคเรื่องการจะเสนอให้แบนส่วนผสมในบุหรี่มวน โดยเฉพาะเมนทอล ซึ่งเป็นรสชาติที่ผู้สูบบุหรี่กว่าครึ่งสูบ ซึ่งแน่นอนว่าการแบนส่วนผสมไม่ได้จะทำให้คนที่สูบเลิกสูบ

แต่จะหันไปสูบบุหรี่ลักลอบนำเข้า หรือ เปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาไปอีก

ในเดือนนี้องค์การอนามัยโลกในส่วนความร่วมมือควบคุมการบริโภคยาสูบจะมีการประชุมที่เรียกสั้นๆว่า COP10 ขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเครือข่ายสมาชิกในข้อตกลงนี้ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย

แต่.... การประชุมรอบนี้ ซึ่งจะมีการออกคำแถลง ออกทิศทางแนวนโยบายการควบคุมยาสูบ ที่เราต้องติดตามทิศทางการแสดงออกของผู้แทนประเทศไทยในการประชุมนี้ให้ดี

เพราะ ประเด็นเรื่องการแบนส่วนผสมในบุหรี่ มีบันทึกในการประชุมของคณะกรรมาธิการหลายชุดที่เห็นตรงกันว่าไม่ควรดำเนินการ และเรื่องข้อเสนอที่เคยจะนำเข้าพิจารณาใน ครม. ก่อนยุบสภาก็ได้ถูกดึงออกไปพิจารณาทบทวนใหม่ ผู้แทนของไทยจึงไม่ควรมีความเห็นในเรื่องนี้ต่อที่ประชุม

และ ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า ที่สภาชุดที่ผ่านมามีข้อสรุปจากอนุกรรมาธิการสองชุด และมีการศึกษาของสำนักงานวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังที่เห็นว่าการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกควบคุมได้แทนที่จะแบนแต่ควบคุมไม่ได้จะส่งผลดีในหลายมิติมากกว่า

รวมทั้งสภาชุดปัจจุบันมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป

ดังนั้นตัวแทนประเทศไทยจึงไม่ควรลงความเห็นใดๆ ในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าต่อที่ประชุมเช่นกัน

การประชุมระหว่างประเทศนี้เป็นการประชุมของผู้แทนประเทศ ไม่ได้เป็นการประชุมวิชาการที่แต่ละคนแสดงความเห็นส่วนบุคคลหรือแสดงความเห็นในนามองค์กรของแต่ละคนได้

อยากจะขอให้ทุกคนช่วยกันจับตา อย่าคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว

ถ้าอยากจะทำให้ประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่ลดลง

ถ้าอยากจะปกป้องลูกหลานจากบุหรี่

เราต้องช่วยกันให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้ และช่วยกันแสดงความคิดเห็น อย่าปล่อยให้เรื่องสุขภาพของเราอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไปครับ”