‘มท.1’ ย้ำนำร่อง ‘4จังหวัดเมืองท่องเที่ยว’ เปิด ‘ผับ-บาร์’ ถึงตี4 กำชับลงรับฟังความเห็นประชาชน เร่งแก้กฎหมายบังคับใช้ให้ทันก่อนเข้าช่วง ‘ไฮซีซั่น’

เมื่อวันที่ 6พ.ย.66 ที่กระทรวงมหาดไทย(มท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธานการชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาล และภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมีนายเกรียง กัลป์ตินันท์รมช.มหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมผู้บริหารและผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม

โดยนายอนุทิน กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนคิดว่าทุกคนสุขสบายดีหลังจากได้พบกันเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งเป็นทำงานร่วมกันเข้าสู่เดือนที่2 ขอบคุณผู้บริหารทุกคนที่ร่วมมือในการทำงาน ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และของรมว.มหาดไทย มีนโยบายเร่งด่วนที่ได้รับบัญชาโดยตรงจากนายกฯ ท่านให้ความไว้วางใจเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยทุกคน

อีกทั้ง นายกฯเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ขณะนี้จะพยายามไปพบกับผู้ว่าฯจังหวัดท่องเที่ยว ท่านได้ชื่นชมการทำงานทั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่ และผู้ว่าฯชลบุรีในการปฎิบัติหน้าที่ และฝากให้กำลังใจกับผู้ว่าฯภูเก็ตที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ขอให้ท่านมีกำลังใจในการทำงาน เราจะมาเปลี่ยนม้ากลางศึกไม่ได้ เป็นเรื่องลำบาก

ต่อมาภายหลังการประชุมนายอนุทิน กล่าวถึงผลการประชุมในวันนี้ว่า เป็นการสรุปสิ่งที่ทำงานในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งมีข้อสั่งการให้เป็นแนวทางปฏิบัติของเดือนต่อไป ส่วนนโยบายเร่งด่วนคือเรื่องการจัดระเบียบสังคม ตนได้หารือกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายปกครองกระทรวงมหาดไทย และตำรวจ รวมทั้งการปกครองงท้องถิ่น ที่ต้องทำงานร่วมกันให้สังคมมีความเรียบร้อย ไม่ได้เข้ามาทำให้เกิดความขัดแย้งหรือแย่งชิงผลงานกัน จริงๆ ไม่มีอยู่แล้วแต่บางทีจังหวะที่เข้าไปการสื่อสารอาจจะคลาดเคลื่อน จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้อีก

รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เรื่องแผนบูรณาการการท่องเที่ยวจากเปิดสถานบริการถึงตี 4 นำร่อง 4 จังหวัดท่องเที่ยว เริ่ม 15 ธ.ค. นี้ว่า นายกรัฐมนตรีต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาว่าควรจะเปิดในรูปแบบใด ไม่ใช่ทั้งประเทศ แต่ขอเน้นในจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวสูง อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี ซึ่งแต่ละจังหวัดจะต้องทำประชาพิจารณ์ เป็นขั้นตอนที่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)

เมื่อถามว่าขณะนี้มีกฎหมายควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเวลาเปิดปิดสถานบริการ จะต้องแก้กฎหมายอะไรบ้าง นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องดูว่ามีกฎหมายไหนขัดแย้งกันเองหรือไม่ เช่น พ.ร.บ.สุราให้ขายไม่เกินเที่ยงคืน ถ้าไม่ใช่สถานบริการประเภทหนึ่งก็ไม่สามารถขายได้ และหากไม่มีการเล่นดนตรี ก็จะเป็นร้านอาหารสามารถเปิดได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งกระแสข่าวก่อนหน้านี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ส่วนการแก้กฎหมายจะต้องหารือกับทางกระทรวงมหาดไทยว่าสามารถแก้ไขได้อย่างไร เช่น การขยายเวลาเปิดแค่ 2 ชั่วโมง ถึงขั้นทำประชาพิจารณ์ นำเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) ผ่านกฤษฎีกา ประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา จะต้องดำเนินการถึงขนาดนั้นหรือไม่ และในเมื่อกระทรวงมหาดไทยมีผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ก็ให้เป็นดุลพินิจของผู้ว่าฯ ร่วมกับตำรวจได้หรือไม่ หรือจะให้เป็นการประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือต้องใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าให้ออกเป็นพ.ร.ก. หรือเข้าครม. อาจจะพ้นช่วงไฮซีซั่นไปแล้ว จึงต้องเร่งเข้าในที่ประชุม ครม.

เมื่อถามว่า มีความกังวลอะไรบ้างนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี มีทั้งคนเชียร์และคนไม่เชียร์ ซึ่งเราจะต้องรับฟังประชาชน แต่โซนท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เราสามารถพิจารณาได้เพราะจังหวัดเหล่านั้นจะมีสถานบริการประเภทหนึ่งที่มีใบอนุญาตอยู่แล้ว คงไม่มีปัญหาอะไร