วันที่ 6 พ.ย.2566 น.ส.อารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการคุกคามทางเพศว่า ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นประเด็นที่อ่อนไหว โดยสังคมไทยในปัจจุบันนี้ยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ทั้งการคุกคามทางเพศด้วยพฤติกรรมการแสดงออก และการพูดจา จึงเกิดการละเลย และก่อให้เกิดการคุกคามทางเพศโดยที่ผู้กระทำผิดไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวแต่มองว่าเป็นเพียงเรื่องปกติ อาจเป็นเพราะถูกหล่อหลอมในสภาพแวดล้อมรอบตัวในแบบนั้น ทั้งนี้การคุกคามทางเพศนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ แต่ที่ผ่านมา สังคมให้ความสำคัญมีเพียงการคุกคามทางเพศรูปแบบการข่มขืนอนาจาร

น.ส.อารีวรรณ กล่าวต่อว่า โทษทางกฎหมายของการคุกคามทางเพศ มาตรา 397 แม้ว่ากฎหมายจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2558 แต่ยังคงมองว่าบทลงโทษ ปรับหนึ่งหมื่นบาทและการจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนนั้น อาจไม่ส่งผลให้คนบางกลุ่มในไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่ร่ำรวยและอำนาจ จะให้ความเคารพต่อกฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งสังคมไทยในขณะนี้ การอบรมปลูกฝังของบุคคลบางรายอาจผิดวิสัยจากปกติ ประกอบกับยุคสมัยปัจจุบันที่มีสื่อสังคมโซเชียลที่เปิดโอกาสให้ประชาชนติดต่อหากันและเข้าถึงสื่อง่ายมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้สื่อเทคโนโลยีคุกคามทางเพศผ่านโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ซึ่งทำให้ผู้ถูกคุกคามทางเพศเกิดความอับอาย เกิดความเสียหาย แต่ไม่สามารถบอกกล่าวหรือหาทางรับมือได้อย่างถูกวิธี

"อยากเห็นการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่สำคัญ และไม่ควรปล่อยให้การกระทำที่ผิดกลายเป็นสิ่งปกติอีกต่อไป โดยการรับมือกรณีถูกคุกคามทางเพศ จากผู้กระทำที่มีสถานะอยู่เหนือกว่าผู้ถูกกระทำ สิ่งแรกที่ควรกระทำที่ออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง ซึ่งหากไม่ปกป้องตนเองก็จะเป็นการปล่อยให้ผู้กระทำผิดย่ามใจ และยังคงไร้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และไม่เคารพต่อกฎหมาย ยังคงอยู่ในสังคมโดยไร้ความรู้สึกผิด และไม่ได้การรับโทษอย่างที่ควรได้รับ ซึ่งในปัจจุบันนี้กรณีคุกคามทางเพศมีหลายช่องทางให้เรียกร้อง อาทิ การแจ้งความดำเนินคดี แจ้งหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเป็นต้นสังกัดของผู้กระทำผิด และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทุกเพศมีสิทธิตกเป็นเหยื่อหรือถูกคุกคามทางเพศได้และย่อมมีสิทธิได้รับการขอโทษและชดเชยเยียวยาจากการถูกกระทำดังกล่าว"น.ส.อารีวรรณ กล่าว

น.ส.อารีวรรณ กล่าวต่อว่า ส่วนพรรคการเมืองที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ มองว่าพรรคการเมืองคือสถาบันทางสังคมรูปแบบหนึ่ง และเป็นที่ชี้นำทางสังคม ดังนั้นจึงต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจนและตระหนักต่อปัญหานี้อย่างจริงจัง รวมถึงต้องจัดการภายในพรรคอย่างเร่งด่วน นั้นคือ หากสมาชิกพรรคมีปัญหา ก็จะต้องจัดการให้ชัดเจนมากที่สุด มิฉะนั้นความผิดจะย้อนกลับมาสู่กระบวนการกลั่นกรองของพรรคนั้นเองว่า ได้กลั่นกรองบุคคลที่เป็นสมาชิกอย่างไร กลั่นกรองบุคคลที่จะลงรับสมัครเป็น สส. ในนามพรรคของตนอย่างไร โดยควรต้องมีหลักเกณฑ์ที่พิจารณาอย่างละเอียดกว่านี้หรือไม่

เมื่อถามถึงการลาออก หรือขับออก ของบุคคลรายดังกล่าว  น.ส.อารีวรรณ กล่าวว่า การลาออก คือการแสดงสปิริตของแต่ละบุคคล เช่นก่อนหน้านี้ ที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลาออกหลังเมาแล้วขับ ส่วนการขับออกเป็นเรื่องของพรรคการเมืองเอง ควรต้องมีการประชุมและตัดสินว่าบุคคลนั้นสมควรเป็นสมาชิกต่อหรือไม่ หากยังคงอยู่ต่อจะส่อให้เห็นถึงอุดมการณ์ร่วมกันในเชิงเดียวกันทั้งหมดได้ และสะท้อนถึงหลักคิดของกลุ่มด้วยเช่นกัน  ดังนั้นการขับออกหากมองว่าบุคคลรายนั้นไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในกลุ่มเดียวกันก็ให้ขับออก แต่หากมองว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ไม่สลักสำคัญก็อาจจะไม่ขับออก การตัดสินใจจะสะท้อนถึงวิธีคิดที่เป็นตัวบ่งบอกว่าเป็นพรรคมองปัญหานี้อย่างไร ในส่วนของผู้เสียหายทั้ง 3 ราย ที่ออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  เพื่อไม่ก่อให้เกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำอีกต่อไป ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดภัยร่วมกัน