“ฤดูฝุ่น” เป็นคำเรียกเล่นๆ ของชาวกรุงเทพฯ เพราะเกิดทุกปี ตั้งแต่เดือน พ.ย. จนสิ้นฤดูหนาว ชาวกรุงเทพฯต้องเผชิญสภาวะฝุ่น PM2.5 ปกคลุมเมือง ส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต จนคำเรียกเล่นๆ นี้กลายเป็นคำที่น่ากลัว เพราะยังไม่มีวี่แววแก้ไขได้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปีนี้ฝุ่นมาเร็ว เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค. มาตรการล่าสุดในปีนี้ ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศทั่วไป มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.66 กำหนดให้ PM 2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จากเดิมกำหนดไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. หากเกิน 37.5-75.0 มคก./ลบ.ม. ถือว่าอยู่ในระดับสีส้ม หมายถึง เริ่มมีผลต่อสุขภาพ กทม.ต้องแจ้งเตือน โดยเฉพาะในโรงเรียน กำหนดให้นักเรียนยกธงบอกสัญลักษณ์ระดับสีความรุนแรงของฝุ่นในแต่ละวัน กระตุ้นให้นักเรียนตื่นตัวเรื่องฝุ่น PM2.5 เพื่อประชาสัมพันธ์ต่อในครอบครัวคนใกล้ชิดวงกว้าง เนื่องจาก กทม.มีนักเรียนในสังกัดกว่า 2.5 แสนคน จากโรงเรียนทั้งหมด 437 แห่ง

และในปีนี้ ปัญหาฝุ่นยังเป็นที่ตื่นตัวของรัฐบาล โดยมีการประชุมหารือร่วมกันหลายฝ่าย เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กทม. กรมควบคุมมลพิษ เพื่อร่วมกันแก้ไขและกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมจากปีก่อน โดยกรมควบคุมมลพิษ ระบุ ปกติ ฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นตลอดทั้งปี แต่ที่เห็นรุนแรงในช่วงปลายปีหรือฤดูหนาวเนื่องจากสภาพอากาศในช่วงปลายปีและต้นปีมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 เกิดสะสม ถือว่าสภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญทำให้พบฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันป้องกันที่แหล่งกำเนิด ทั้งในพื้นที่เมือง พื้นที่การเกษตร และพื้นที่ป่า เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น

สำหรับ กทม. นอกจากมาตรการเดิมจากปีที่แล้ว เช่น ตรวจรถควันดำจากแหล่งกำเนิด ตรวจโรงปูน โรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือ และการรวบรวมจุดเสี่ยงก่อฝุ่นต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวัง ในปีนี้ ได้เพิ่มการปรับปรุงแอพพลิเคชั่น Air bkk เพื่อการพยากรณ์แม่นยำล่วงหน้า 3 วัน เป็นส่วนสำคัญในการขอความร่วมมือให้ภาคเอกชน “ทำงานที่บ้าน” ลดการใช้รถยนต์ กรณีฝุ่นสูงถึงระดับวิกฤตกระทบสุขภาพรุนแรง (สีแดง) ซึ่ง กทม.สร้างเครือข่ายขอความร่วมมือไว้กว่า 100 บริษัท จำนวนพนักงานกว่า 4 หมื่นคน รวมถึงมาตรการใหม่ที่กำลังนำมากำหนดใช้อย่างเป็นทางการ วันที่ 1 ม.ค.67 คือ การใช้น้ำมันยูโร 5 เป็นมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำหนดโดยกลุ่มประเทศทวีปยุโรป มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า ฝุ่นในช่วงแรกของปี (ต.ค.-ธ.ค.) ส่วนใหญ่มาจากรถยนต์ ในระยะต่อมา (ม.ค.-ก.พ.) เกิดจากการเผาชีวมวล เช่น อ้อย ข้าว บางส่วนลอยข้ามมาจากพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้กทม.ได้รับผลกระทบไปด้วย เรื่องนี้เป็นอำนาจของรัฐบาลในการกำกับดูแล ส่วน กทม.มีอำนาจกำกับการเผาในพื้นที่ เช่น การตรวจจับความร้อน (การเผา) ผ่านระบบดาวเทียม และการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปกวดขัน พร้อมเพิ่มมาตรการแบ่งรางวัลค่าปรับสำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสการเผา มีโทษปรับ 2,000 บาท โดยปีนี้คาดว่าจะมีการเผาน้อยลง เนื่องจาก กทม.สนับสนุนรถอัดฟางข้าวแก่เกษตรกรฝั่งตะวันออก จำนวน 3 คัน เพื่อเปลี่ยนการเผาเป็นรายได้จากการขายฟางอัดก้อนทดแทน รวมถึง ในปีนี้ กทม.ยังติดตั้งเครื่องกรองอากาศในศูนย์เด็กเล็กกว่า 300 เครื่อง และในโรงเรียนอนุบาลกว่า 1,734 เครื่อง

ทั้งหมดเป็นมาตรการและแนวทางใหม่เพิ่มเติมจากเดิม ในการรับมือฝุ่น PM2.5 ของ กทม. ยังไม่รวมแผนในอนาคต เช่น ควบคุมรถเก่าในพื้นที่ ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น 1,000 จุด จากเดิม 722 จุด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยก่อฝุ่นที่มนุษย์สร้างขึ้นยังพอควบคุมได้ เช่น การจัดทำแผนที่รวบรวมจุดเสี่ยง การตรวจควันดำ การห้ามเผาในที่โล่ง ห้ามจุดธูปเทียนบริเวณศาลเจ้า ซึ่งปฏิบัติกันมาต่อเนื่อง แต่ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ยังมีอยู่ เช่น การลอยตัวของเพดานอากาศต่ำลง ประกอบกับมีแรงลมต่ำ ทำให้ฝุ่นระบายออกจากพื้นได้ช้า เกิดการสะสมนานขึ้น ต้องอาศัยการพยากรณ์ที่แม่นยำเพื่อรับมือต่อไป

ด้านนายวิพุธ ศรีวะอุไร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เปิดเผยว่า เขตบางรักเป็นเขตหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงฤดูฝุ่น เนื่องจากมีพื้นที่สีเขียวน้อย มีทางด่วน สถานประกอบการ และอาคารสำนักงานจำนวนมาก ทำให้การจราจรหนาแน่น เบื้องต้น จึงอยากให้ กทม.มีมาตรการเพิ่มเติม ดังนี้ 1.พัฒนาช่องทางแจ้งเตือนให้ชัดเจนครอบคลุม เนื่องจากการแจ้งเตือนปัจจุบัน ประชาชนได้รับจากข่าวสารในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีประชาชนอีกจำนวนมาก เช่น ผู้สูงอายุ ไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดีย และบางกลุ่มอาจเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต กทม.ควรพัฒนาการแจ้งเตือนที่ครอบคลุม เช่น แอพพลิเคชั่น หรือระบบเอสเอ็มเอสบนโทรศัพท์มือถือ 2.การแจกหน้ากาก N95 ยังไม่พบว่าไปแจกจุดใด หรือมีประชาชนได้รับมากน้อยแค่ไหน อย่างไร 3.การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ควรติดตั้งให้กลุ่มเปราะบาง และทุกสถานที่ที่มีการให้บริการประชาชน เช่น สำนักงานเขต และโรงเรียนต่างๆ ในกทม. แต่ กทม.มีแผนติดตั้งเครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้าย ปี 2567 เฉพาะห้องเรียนเด็กอนุบาล 1,743 เครื่อง เครื่องละ 1 ห้องเรียน เหตุใดไม่ติดให้เด็กประถมฯด้วย ซึ่ง กทม.มีโรงเรียนในสังกัดถึง 437 โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในเขตบางรักบางแห่งอยู่ใกล้ทางด่วน ได้รับมลพิษและฝุ่น PM2.5 ตลอดวัน

“มาตรการรับมือฝุ่นในปีนี้ของ กทม.ยังไม่ต่างจากปีที่แล้ว อาจจะมีเรื่องแผนติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นเพิ่มขึ้นจากประมาณ 722 จุดเป็น 1,000 จุด การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การสร้างทางจักรยาน สนับสนุนการใช้รถขนส่งพลังงานไฟฟ้า การกำหนดใช้นำ้มันยูโร 5 และโครงการนักสืบฝุ่น ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นแผนระยะยาว ยังไม่แก้ปัญหาที่ประชาชนพบในปัจจุบัน เชื่อว่าเมื่อถึงช่วงฝุ่นมากๆ จะมีเสียงสะท้อนว่าปีที่แล้วก็เจอ ปีนี้ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเลย” ส.ก.เขตบางรัก กล่าว

นายวิพุธ กล่าวต่อว่า แนวทางการศึกษาเพื่อกำหนดพื้นที่สีเขียวในอาคาร สนับสนุนให้มีการปลูกต้นไม้แลกกับการลดหย่อนภาษีของ กทม.อาจเป็นดาบสองคม เพราะที่ดินราคาแพง ประชาชนบางส่วนอาจไม่พร้อมดูแลต้นไม้ หรือไม่ต้องการมีต้นไม้ภายในบ้าน ต้องพิจารณาให้รอบคอบ อาจเป็นการบังคับหรือลิดรอนสิทธิ์ได้ พื้นที่สีเขียวควรเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งภาครัฐเป็นผู้พัฒนา ส่วนมาตรการป้องกันการเผาในที่โล่งและไฟไหม้ โดยการสนับสนุนรถอัดฟาง 3 คัน อาจไม่เพียงพอต่อขนาดพื้นที่และความต้องการของประชาชน

“เรื่องฝุ่นเป็นปัญหาใหญ่ เข้าใจว่างบประมาณแต่ละปีมีจำกัด แต่ควรคำนึงถึงปัญหาเร่งด่วนด้วย ไม่ใช่มองแต่ระยะยาว เช่น การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศให้ครอบคลุมทั้งชั้นอนุบาลและประถม และการแจกหน้ากาก N95 อยากรู้ว่าแจกที่ไหน เพราะยังไม่เห็นประชาชนในเขตบางรักได้รับ และการสนับสนุนรถอัดฟางให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงเพื่อลดการเผา เพราะเมื่อเกิดปัญหา ผู้ที่ได้รับผลคือประชาชน” นายวิพุธ กล่าว