เมื่อวันที่ 5 พ.ย.66 น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ "โบว์" พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และอดีตนักกิจกรรมทางการเมือง โพสต์เฟซบุ๊ก "Bow Nuttaa Mahattana" ระบุว่า

ความผิดฐานคุกคามทางเพศนั้น จะต้องมีการกระทำที่ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกอึดอัดหวาดกลัวและอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเป็นการกระทำโดยผู้บังคับบัญชา จะมีโทษสูงขึ้น

สิ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งคุณแจ้และปูอัดเปิดเผยออกมา เป็นไปเพื่อชี้นำให้สังคมเห็นว่า ไม่มีความรู้สึกแบบนั้นเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ถูกกล่าวหา เพราะหลังจากนั้นหลายเดือน ผู้กล่าวหาก็ยังส่งคลิปส่วนตัวที่ไม่เหมาะสมมาให้ ส่งจดหมายมาแสดงความชื่นชมยินดี เอ่ยถึงความสุขของการได้ร่วมทางกันมา ขอติดตามสนับสนุนต่อไป ในเคสคุณปูอัด มีความพยายามเล่าเรื่องให้สังคมรับรู้ว่าทางครอบครัวของฝ่ายหญิงก็มีมิตรไมตรีที่ดีกับตน เมื่อชนะเลือกตั้ง ฝ่ายหญิงส่งจดหมายมาแสดงความชื่นชมยินดีและต้องการมีส่วนร่วมในงานต่อไป เป็นความพยายามจะแสดงให้เห็นว่าไม่มีการคุกคามต่อกันก่อนหน้านั้นตามที่ถูกกล่าวหา ฯลฯ ซึ่งแน่นอน สังคมไม่อาจบอกได้ว่าหลักฐานที่แสดงออกมาคือข้อเท็จจริงหรือไม่

การเปิดเผยผ่านการแถลงข่าวโดยทั้งสองคนนี้ไม่ควรต้องเกิดขึ้นเลย หาก “พรรคก้าวไกล” มีความโปร่งใสในกระบวนการและในคำตัดสิน แถลงให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้งของทั้งสองฝ่าย และเหตุผลของคำตัดสินอย่างตรงไปตรงมา โดย “ปิดชื่อผู้เสียหาย”

เพื่อให้สังคมได้ใช้วิจารณญาณกับข้อมูลที่ได้รับ

เพื่อให้สังคมรู้ตัวว่ากำลังประณามการกระทำใดในบริบทใดอยู่

เพื่อให้ทุกอย่าง “ยุติ” โดย “ธรรม”

นี่คือความหมายของความยุติธรรม

แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่เกิดขึ้น เรื่องจึงยังไม่ “ยุติ”

วันนี้สังคมจึงตั้งคำถามว่า พรรคก้าวไกลหมกเม็ดข้อเท็จจริงเพราะอะไร ทั้งที่ปกปิดชื่อฝ่ายผู้ร้องได้อยู่แล้ว

หรือเพราะสิ่งที่เกิดขึ้น อาจไม่ใช่ “การคุกคามทางเพศ” แต่เป็นความสัมพันธ์ที่พรรคเห็นว่าไม่เหมาะสมในทีมงาน คือระหว่างผู้เตรียมตัวเข้าสู่สนามเลือกตั้ง กับอาสาสมัครที่มาช่วยหาเสียงเมื่อปีที่แล้ว? หรือเพราะกลัวสังคมไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน? หรือเพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มาตรฐานพอจะพิสูจน์ความผิด? หรือเพราะอะไร?

คำถามจะเกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบ หากยังคงไม่มี “ความโปร่งใส” ในคำตัดสินที่พิพากษาคนด้วยข้อหารุนแรงไปแล้วทั้งชีวิต