เฝ้าระวังและประสานงานด้านการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพกรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพิ่มความมั่นใจให้ประชาชน พร้อมแนะกลุ่มเสี่ยงดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละออง ของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 พบว่า มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน คือ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) โดยมีค่าสูงสุดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เท่ากับ 85.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (สีแดง) รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุด เท่ากับ 49.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอาจส่งผลกระทบ
ต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวได้ และคาดการณ์ว่าปริมาณ PM2.5 บริเวณพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ต่อเนื่องไปอีกสักระยะ ดังนั้น พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย จึงให้เจ้าหน้าที่กรมอนามัยเตรียมความพร้อมรับมือ สั่งการให้เปิดศูนย์เฝ้าระวังและประสานงานด้านการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก และซักซ้อมความพร้อมในการปฏิบัติการในระดับพื้นที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่ได้รับผลกระทบ คือ พื้นที่รับผิดชอบของศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง เร่งเฝ้าระวังสถานการณ์และสื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ทราบถึงสถานการณ์และการปฏิบัติตนในการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะในสถานที่สำคัญที่มีกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ พร้อมทั้ง เตรียมยกระดับการปฏิบัติการตามความรุนแรงของสถานการณ์ในแต่ละวัน ภายใต้มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2567 เพื่อดูแลสุขภาพและสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน
"ทั้งนี้ ในช่วงนี้ ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร แม่ค้าริมถนน พนักงานกวาดถนน คนขับรถรับจ้าง ทั้งรถจักรยานยนต์ และรถสามล้อ พนักงานส่งอาหาร และ ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง จึงควรดูแลและป้องกันสุขภาพตนเองและครอบครัว หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาดปราศจากฝุ่น นอกจากนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1478” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด