เมื่อเวลา 16.18 น. วันที่ 4 พ.ย. 2566 ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE2) ตำบลเขาคันทรง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ชลบุรีและ จ.ระยอง ว่า ตั้งแต่เช้า 08.30 น. นั่งรถไฟจากหัวลำโพงมาที่แหลมฉบังใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง เป็นการดีที่มีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานเข้ามา ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เลขาธิการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีการพูดถึงปัญหาและจุดประสงค์ใหญ่วันนี้มาดูเรื่องอีอีซี เพราะถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีการดำริว่าจะทำกันมานานแล้ว และจะทำต่อไป
นายเศรษฐา กล่าวว่า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นปัญหาที่เราต้องการแก้ไข ปัญหาเยอะ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่มาก จึงทำให้เกิดการล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานสะอาด เรื่องระบบรางเรื่องท่าเรือ สนามบิน หลายเรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยการแก้ไขแบบบูรณาการจริงๆ ทั้งนี้ยืนยันว่าหลักการของอีอีซีเป็นหลักการที่ดีมากและเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสุดในการที่จะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลนี้ได้ ว่ารัฐบาลไทยเปิดแล้วสำหรับการให้ต่างชาติมาลงทุน อย่างตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เราต้องดูปัญหาในเชิงลึกจริงๆว่าแต่ละคนมีปัญหาอย่างไร เพื่อที่จะแก้ไขในแต่ละเรื่อง
นายเศรษฐา กล่าวว่า อย่างวันนี้ที่มาเป็นปัญหาเรื่องน้ำในอุตสาหกรรมใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น เช่นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความต้องการน้ำอย่างมาก คำถามแรกเขาถามว่าเรามีน้ำเพียงพอหรือไม่ แหล่งน้ำมีพอหรือไม่ สทนช. กับกรมชลประทาน ต้องพยายามตอบสนองความต้องการของนักลงทุนให้ได้ ปัญหาที่คาราคาซังมาสื่อมวลชนทราบอยู่แล้วมีเรื่องของบริษัทวงษ์สยามและบริษัทอิสท์วอเตอร์ ถือเป็นปัญหาที่คาราคาซังมานานมาก วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่เลขาธิการอีอีซีได้มาพูดคุยและก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจากับทั้งสองฝ่ายจนกระทั่งบรรลุข้อตกลงที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้ ปัญหาเหล่านี้จะทำให้เรื่องที่ต่างชาติมีความกังวลใจที่ว่าจะไม่ได้ถูกแก้ไข แต่ก็ได้ถูกแก้ไขแล้ว ซึ่งจะเห็นได้จากรูปที่มีการจับมือกันเพื่อที่จะทำงานร่วมกัน และจะสามารถขจัดปัญหาเรื่องน้ำออกไป
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหารถไฟที่เชื่อม 3 สนามบิน เวลานี้ที่มีการดีเลย์เกิดขึ้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม รับไปเจรจากับฝ่ายเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ ส่วนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ปัจจุบันปริมาณสินค้าที่เข้าออกในประเทศไทยเราเป็นท่าเรือที่ใหญ่ในลำดับที่ 19 ของโลก แต่ปริมาณสินค้าที่จะมีการเข้าและออกมีความต้องการสูงมาก ฉะนั้นความจำเป็นที่ต้องสร้างเฟส 3 ขึ้นมามีเยอะ ซึ่งได้ดำเนินงานไปแล้ว จะสามารถทำให้เรายกระดับเป็นท่าเรือใหญ่ 1 ใน 15 ของโลกได้ แต่ตรงนี้เฟส 3 เมื่อมาดูพบว่ามีความล่าช้าเกิดขึ้น ทางผู้ว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย ก็ยอมรับว่ามีความล่าช้า ตนจึงได้สั่งการเรื่องนี้ เรายอมรับไม่ได้หากผู้รับเหมามีปัญหา ก็ต้องเรียกมาพูดคุย หรือต้องมีการเปลี่ยน เรื่องการถมทะเลก็ช้า จะเอาเรื่องของโควิดมาอ้างก็ไม่ได้ เพราะ ปัจจุบันนี้ความต้องการของต่างชาติที่จะมาสร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทยสูงมาก เขาต้องการความมั่นใจว่าเราจะมีท่าเรือที่เพียงพอในการส่งออกรถไฟฟ้าเหล่านี้ หากท่าเรือเฟส 3 สร้างมาไม่ทัน ปริมาณรถที่จะออกมาก็เยอะมาก ฉะนั้นการคนถ่ายก็จะมีความลำบากขึ้น จึงได้สั่งการไปแล้วทางผู้ว่าการท่าเรือฯก็ยอมรับว่ามีการดีเลย์จริง แต่จะมีการก่อสร้างให้ทันเวลาได้ภายในกลางปีหน้า ซึ่งอีก 2 เดือน จะมาดูความคืบหน้าอีกทีหนึ่ง
นายเศรษฐา กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องของพลังงานสะอาดถือเป็นเรื่องสำคัญ เอกชนมีความต้องการพลังงานสะอาดหากจะลงทุนที่ไทย ขณะที่เอกชนไทยก็มีความประสงค์ที่จะพัฒนาเรื่องพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับภาครัฐ รวมถึงการพัฒนาสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ด้วย ซึ่งต้องมีการเจรจากันต่อไป ทั้งนี้จะเห็นว่ามีปัญหาข้อปลีกย่อยเยอะ คณะที่มาเห็นร่วมกันว่าเรามีคณะทำงานของอีอีซีอยู่แล้ว แต่อันนี้จะเป็นคณะทำงานย่อย ซึ่งตนมอบหมายให้ นายสุริยะเป็นประธาน โดยใช้ชื่อว่าคณะกรรมการ ease of doing business in EEC ให้ง่ายขึ้น ทะลุทะลวงปัญหา เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ กระทรวง ทบวงกรม ต่างๆ เพื่อให้คณะเล็กมีไม่ถึง 10 คนสามารถ บริหารจัดการแก้ไขปัญหาไปได้อย่างรวดเร็ว
"การที่เราลงมาพื้นที่อีอีซีเป็นการบ่งบอกว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญและต้องให้ความมั่นใจอย่างสูงสุดกับนักลงทุน ที่เวลารัฐบาลเดินทางไปต่างประเทศจะได้พูดอย่างเต็มปากว่าพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนี้ทำงานได้จริงและสามารถเชื้อเชิญนักลงทุนได้อย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องและรวดเร็ว" นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังผู้บริหาร ภาคเอกชนในวันนี้ พบว่าทุกคนไม่มีความเป็นห่วง ถ้าเราสามารถทะลุทะลวงปัญหาต่างๆที่ไม่ได้รับการแก้ไขมา ประเทศไทยจะเป็นแหล่งลงทุนแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกในการผลิตรถไฟฟ้า และอีกหลายๆธุรกิจซึ่งจะล้อกับการที่ตนเดินทางไปเอเปกจะมีการพูดคุยความร่วมมือระหว่างประเทศหลายประเทศและจะมีการพบปะเอกชนของสหรัฐเมริกากว่า 30 ราย ซึ่งจะมีภาคเอกชนไทยเดินทางไปด้วย ตรงนี้ถือเป็นนิมิตรหมายอันดี และการที่เดินทางมาวันนี้ทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาและมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อที่จะไปพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติได้อย่างเต็มปาก โดยหวังว่าภายในเวลาไม่กี่เดือนนี้เราจะสามารถทำอะไรได้เยอะมาก