วันที่ 3 พ.ย.66 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการ (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะทำงานตรวจสอบนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท และมีกกต.ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้วยว่า ในช่วงเลือกตั้งพรรคการเมืองจะเสนอนโยบายที่จะต้องใช้จ่ายเงินต้องชี้แจงข้อมูลให้ครบ 3 เงื่อนไข 1.แหล่งที่มาของเงิน 2.ประโยชน์ที่จะได้รับ 3.ความเสี่ยงของนโยบายนั้นๆ ซึ่งกกต.ไม่มีอำนาจที่จะไปอนุญาตให้ใครหาเสียงได้ หรือไม่ได้ แต่ขอให้พรรคการเมืองจัดทำข้อมูลให้ครบใน 3 เงื่อนไข เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะออกเสียงลงคะแนนให้หรือไม่ ถ้านโยบายนั้นจะทำให้การเงินการคลังของประเทศเสียหาย ก็จะมีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจตามมาตรา 245 โดยระบุว่าให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำความเห็น ถ้าพบว่านโยบายจะสร้างความเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศ ให้หารือร่วมกันกับกกต. และป.ป.ช แต่ถ้าดำเนินการนโยบายนั้นๆแล้วเกิดการทุจริต ก็จะเป็นหน้าที่ของป.ป.ช.ในการตรวจสอบ ซึ่งกฎหมายออกแบบมาอย่างถูกต้องครอบคลุมแล้ว
เมื่อถามว่าในการชี้แจงของพรรคเพื่อไทยได้ระบุแหล่งที่มาของเงินว่ามาจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี นายแสวง กล่าวว่า ณ วันที่ออกนโยบายพรรคการเมืองมีเวลาคิด ซึ่งนโยบายคือกรอบที่วางไว้กว้างๆ เวลาจะนำมาใช้จริงก็ต้องมาปรับ เช่น นโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อมีการมารวมกันในการจัดทำนโยบายก็ต้องมีการถอยคนละก้าวเพื่อให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งบางนโยบายอาจไม่ดำเนินการในปีนี้ ตนหมอว่าการที่พรรคการเมืองพยายามทำตามนโยบายเป็นเรื่องที่ดีของการเมืองไทย ส่วนดีหรือไม่ต้องรอดู ซึ่งมีกระบวนการในการตรวจสอบ ซึ่งต้องรอดูว่าจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน
เมื่อถามว่ามีการมาร้องกกต.ให้ตรวจสอบ กกต.จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร นายแสวง กล่าวว่า เราจะไม่เอาความรู้สึกของคนมาบริหารประเทศไม่ได้ แต่เราทราบถึงความรู้สึกนั้นว่าประชาชนคาดหวังอย่างไร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขณะนี้ขยับหมดทั้ง สตง. และป.ป.ช. ในส่วนของกกต.ก็พร้อมร่วมทำงานกับสตง.และป.ป.ช. ขณะที่ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานตรวจสอบในเรื่องนี้ กกต.ก็เข้าให้ข้อมูล โดยเรื่องนี้เป็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงไม่น่าหนักใจแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นเรื่องเทคนิคทางการเงินต้องถามหน่วยงานอื่น
เมื่อถามอีกว่า ก่อนหน้านี้กกต.ได้ยกคำร้องว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลไม่ได้เข้าข่ายว่าเป็นการสัญญาว่าจะให้ จะส่ง,ต่อการที่กกต.เข้าร่วมพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ นายแสวง ย้ำว่า นโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงินเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์มาตรา 57 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง คือนโยบายก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย เมื่อนโยบายผ่านประชาชนจากการเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่ใช้เงินในลักษณะแบบนี้ ประชาชนจะต้องพิจารณาใน 3 เงื่อนไขไม่ใช่กกต.ที่เป็นผู้พิจารณา โดยกกต.ดูเพียงว่าพรรคการเมืองเสนอครบตาม 3 เงื่อนไขหรือไม่
"ประชาชนต้องดูว่า 3 เงื่อนไขว่าประชาชนจะเลือกคุณไหม มันเสี่ยงหรือคุ้มค่าหรือไม่ แล้วก็ไปโหวตถ้าโหวตไม่ผ่านก็ไม่ผ่านตั้งแต่ประชาชน ถ้าผ่านด่านประชาชนแล้วก็จะต้องถึงด่านรัฐธรรมนูญต่อ แล้วมาด่านป.ป.ช.ต่อไป ระบบวางไว้แบบนี้ อย่าว่าต่อๆทำตามกฎหมายเราไม่ได้ทำตามความรู้สึกคน" นายแสวง กล่าวว่า