บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

ผลโพลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยให้แจกเงินดิจิทัล

กระแสการตอบรับนโยบายรัฐบาลในการแจกเงินดิจิทัล หรือที่รัฐบาลเรียกว่า “Digital Wallet” ด้วยเม็ดเงินจำนวนมากสูงถึง 5.6 แสนล้าน ต่อเป้าหมายคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 56 ล้านคน โดยคาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจคาดว่าเม็ดเงินงบประมาณดังกล่าวนี้จะไปหมุนอยู่ในระบบเศรษฐกิจประมาณ 4 รอบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.2 ล้านล้านบาท เสียงกระแสมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ล่าสุดเมื่อ 31 ตุลาคม 2566 โพล ม.ศรีปทุมร่วมกับดีโหวต ผล 49.53% สนับสนุนแต่รัฐต้องไม่กู้ 33.86% สนับสนุนแม้จะไปกู้เงินก็ตาม 12.09 % ไม่สนับสนุน ไม่ว่าจะกู้เงินหรือไม่กู้ก็ตาม

ในขณะที่หน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนหลายหน่วยงาน พูดถึงเป็นเสียงเดียวกันว่า ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ในท้องถิ่นเฝ้าหวังและเฝ้ารอเงินจำนวนนี้จากรัฐบาลเป็นอย่างมาก เพราะสำหรับประชาชนในท้องถิ่นบางคนที่มีฐานะยากจนรวมทั้งฐานะปานกลาง เงินจำนวน 10,000 บาท นี้ ส่งผลต่อชีวิตเป็นอย่างมาก เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บางครอบครัวในท้องถิ่นไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสหรือครอบครองเงินจำนวนถึง 10,000 บาท ซึ่งในครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรกในชีวิตของพวกเขา จึงไม่แปลกที่คนเหล่านี้จะตอบรับและเฝ้ารอให้รัฐบาลทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ ในขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยและต่อต้านนโยบายดังกล่าว ซึ่งกลุ่มผู้ต่อต้านนั้นส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการชื่อดัง นักเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เช่น อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รองผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นต้น โดยเห็นว่า นโยบายดังกล่าวใช้เม็ดเงินเป็นจำนวนมาก ที่รัฐบาลไม่สามารถหาเงินงบประมาณมาได้ครบจำนวน 5.6 แสนล้านได้ ทำให้เกิด “หนี้เพิ่ม” TTB วิเคราะห์ว่า เสี่ยงทำหนี้สาธารณะพุ่งทะลุเพดาน 70% หรือแตะ 14 ล้านล้านบาทภายใน 3 ปี (2569) ผลทำให้รัฐหมดเงินงบประมาณสำหรับใช้ในโครงการลงทุนที่จำเป็นของประเทศ เพราะะนโยบายนั้น คือ ยุทธศาสตร์ประชานิยม (Populist Strategies)

เงินดิจิทัลแก้ไขปัญหาการคอรัปชันได้

จากเสียงสะท้อนเหล่านี้ ทำให้ต้องครุ่นคิดถึงปัญหาในประเทศไทยในหลายมิติ ซึ่งในวันนี้ เราจะกล่าวถึงประเด็นแรก ในเรื่องของเงินดิจิทัลที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาเนิ่นนานและความสัมพันธ์ที่มีต่อ “การทุจริตคอร์รัปชั่น” ในประเทศไทยว่า เงินดิจิทัลนี้ จะเป็นความหวัง ทางเลือกหรือทางรอดของประเทศไทย

เสียงตอบรับจากนโยบายเงินดิจิทัลในสังคมชนบทและในสังคมเมืองสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในหลายด้าน ไม่แปลกที่สังคมชนบทจะเฝ้ารอเงินดิจิทัลเหล่านี้ แม้ประชาชนในท้องถิ่นจะรู้ดีว่า นโยบายนี้ก็คือนโยบายประชานิยม แต่หากมองด้วยใจที่เป็นกลางแล้ว จะเห็นได้ว่า นโยบายประชานิยมนี่เอง ที่ครองหัวใจประชาชนคนท้องถิ่นมาเนิ่นนาน และในทุกการหาเสียงของทุกพรรคการเมืองก็แทบไม่มีพรรคใดเลยที่ละเลยความสำคัญในจุดนี้ ทุกพรรคการเมืองจึงมุ่งชูนโยบายที่สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน แม้ว่าพรรคการเมืองนั้นจะมีภาพลักษณ์ในด้านลบเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างไร หรือแม้กระทั่งพรรคการเมืองนั้นมีการแจกเงินเพื่อ “ซื้อเสียง” ก็ยังได้รับการเลือกตั้งให้กลับมาเป็นรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง ไม่ใช่ว่า ประชาชนในท้องถิ่นไม่รู้เรื่องการทุจริต ในทางกลับกัน ประชาชนคนท้องถิ่นรู้ดีเรื่องการทุจริต และรู้ว่าการทุจริตส่งผลต่อปัญหาของประเทศในหลายๆ ด้าน ทั้งการเรียกรับของเจ้าหน้าที่ การฮั้วประมูล การซื้อเสียง ซื้อขายตำแหน่ง ล้วนผ่านสายตาคนท้องถิ่น (หรือ คน อปท.) มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่เพราะปัญหาเรื่องปากท้องและความสิ้นหวังในการแก้ปัญหาการทุจริตของทุกยุคทุกสมัย ทำให้ประชาชนเลือกพรรคที่จะมาทำให้ชีวิตดีขึ้นโดยเลือกที่จะมองข้ามมุมมืดในการทุจริตของพรรคการเมืองนั้นไป

เงินดิจิทัลใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ Trickle-down ให้นิยามความหมายแยกคนรวยคนจน

นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทจะเป็นเงินที่เปลี่ยนชีวิตคนในท้องถิ่นหลายครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางทางสังคม ซึ่งแบงก์ชาติและสภาพัฒน์ปรับลดวงเงินหนุนเน้นไปที่คนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นคนยากจนในชุมชน ที่เป็นผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ อยู่เสมอ แต่ รมช.คลัง (นายจุลพันธ์) เห็นว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ต้องแจกคนจำนวนมากปรับลดได้ 49 ล้านคน จากเกณฑ์เงินเดือน 5 หมื่น และหรือมีเงินฝาก 5 แสนบาท มีแนวโน้มว่าอาจใช้ที่เกณฑ์รายได้เงินเดือน 2.5 หมื่น และหรือมีเงินฝาก  หนึ่งแสนบาท ซึ่งเท่ากับว่า การแจกเงินดิจิทัลในครั้งนี้เป็นการ “นิยามความหมายคนรวยและคนจน” ไปโดยปริยาย จึงเป็นที่น่ากังวลว่า กลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงสวัสดิการ “เงินดิจิทัล” ที่ต้องพึ่งพาอาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงได้ยากหรือไม่เคยมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้เลย จะกลายเป็น “กลุ่มคนตกสำรวจ” ดังเช่นที่มีข่าวอยู่บ่อยครั้งในหลายๆ สวัสดิการของรัฐ หรือจากเงินช่วยเหลือจากรัฐที่ผ่านมา เช่น ช่วงโควิด หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น อย่าลืมว่า กลุ่มคนเหล่านี้ “ไร้ซึ่งอำนาจต่อรอง” และอาจเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อว่า รัฐบาลจะป้องกันปัญหาเหล่านี้มิให้เกิดซ้ำซากได้อย่างไร เพื่อให้นโยบายที่รัฐบาลคาดหวังว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากประสบความสำเร็จได้

แนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก หรือ “เศรษฐกิจไหลริน” (คำเรียก) มีทั้ง up & down “Trickle-down Economics” เชื่อว่า การดำเนินนโยบายเอื้อคนรวย จะช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ แต่ “Trickle-up Economics” เป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เลือกใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเน้นให้การสนับสนุนกับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งก็คือคนที่อยู่ต่ำสุดของโครงสร้างสังคมก่อนเป็นอันดับแรก โดย โจ ไบเดนได้เสนอให้มีการพิจารณาขยายการใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้น จาก 20 เปอร์เซ็นต์เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของ GDP โดยมีเป้าหมายเพื่อการกระจายรายได้ไปยังผู้มีรายได้ปานกลางและต่ำ โดยเชื่อว่า วิธีการนี้จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียมกันให้กับคนทั้งประเทศอย่างยั่งยืน และเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนรายได้ประชากรของประเทศไทย จะพบว่า ประเทศไทยมีคนจนมาก (ผู้มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนเกินร้อยละ 20) เพิ่มขึ้นมากที่สุดจากร้อยละ 1.84 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 2.31 ในปี 2563 รองลงมา คือ คนจนน้อย (ผู้มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนไม่เกินร้อยละ 20) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.40 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 4.52 ในปี 2563 แนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก “Trickle-up Economics”นี้

จึงเป็นแนวคิดที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ตรงข้ามกับแนวคิดเศรษฐกิจ “Trickle-up Economics” นี้รัฐบาลหลายประเทศใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา โดยเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนบน โดยเชื่อว่า ถ้าเศรษฐกิจส่วนบนได้รับสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ก็จะทำให้เศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ดีตามไปด้วย โดยการลดภาษีธุรกิจ ภาษีเงินออม กำไรส่วนทุน ให้คนมีรายได้สูงซึ่งถูกอธิบายด้วยกราฟของแลฟเฟอร์ ที่คิดค้นขึ้นโดยอาเธอร์ แลฟเฟอร์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เพื่ออธิบายว่าการลดภาษีจะส่งผลให้เกิดการทวีคูณของเศรษฐกิจ (Multiplication effect) และในระยะยาวจะมาทดแทนรายได้ของรัฐที่เสียไปจากการลดภาษีซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษ 80 ได้ ด้วยการใช้วิธีการเก็บภาษีเพิ่มจากผู้มีรายได้สูง โดยเฉพาะ “กลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์” ที่อยู่บนสุดของพีระมิด แล้วนำภาษีที่ได้มาจัดสวัสดิการต่างๆ เพื่อกลุ่มระดับล่างที่มีจำนวนมาก แนวคิด “เศรษฐกิจแบบไหลริน” (Trickle-down Economics) ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจนี้มีวิธีคิดแบบพึ่งพา “คนตัวใหญ่”

เทคโนโลยี Blockchain ระบบการชำระเงินแบบใหม่แก้ปัญหาเงินสกปรก

รัฐบาลได้ออกมาอธิบายถึงวัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าวว่า นโยบายนี้ไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศ เมื่อจบจากโครงการนี้ประเทศเราจะมี “Blockchain” และจะมีระบบการชำระเงินแบบใหม่ โดยมีฐานข้อมูลแพลตฟอร์มที่ใหญ่มากๆ และเมื่อมองอีกมุมหนึ่งจะเห็นว่า หลายประเทศมีความสนใจในการใช้เงินดิจิทัลเพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในโครงการภาครัฐ และมีหลายประเทศได้นำเงินดิจิทัลไปใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐเพื่อแก้ปัญหาการทุจริต เช่น โคลอมเบีย บังกลาเทศ จอร์เจีย เป็นต้น อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่เอื้อให้การทุจริตคอร์รัปชั่นรุนแรงมากขึ้น เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่มีต้นทุนและจะถูกผลักให้ประชาชนเป็นผู้จ่ายเสมอ หรือการใช้เงินดิจิทัล จะเป็น “ทางเลือก” หรือ “ทางรอด” ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นโดยเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า “Blockchain” ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อให้มีความโปร่งใส มีการคุ้มครองข้อมูล มีการเข้ารหัสและเป็นการยากที่จะทำลายข้อมูลหรือเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูล ดังนั้น ในทุกการโอนเงินดิจิทัลทุกบาท ทุกครั้ง จึงสามารถตรวจสอบได้เสมอว่า เงินดังกล่าวถูกโอนมาจากใคร โอนให้ใครไปกี่ครั้งกี่ทอด จึงไม่แปลกที่หลายประเทศนำเงินดิจิทัลไปใช้เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งแน่นอนว่า เงินดิจิทัลจะสามารถเปิดโปงโฉมหน้าอาชญากรที่มาในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และกระบวนการทุจริตในภาครัฐได้ และทำให้อาชญากรยากที่จะเปลี่ยน “เงินสกปรก” (Dirty Money) อันเป็นด้านมืดของโลกทุนนิยมที่ได้จากการก่ออาชญากรรมให้กลายเป็นเงินสะอาดได้ หรือที่เรียกว่า “การฟอกเงิน” (Money Laundry) เพราะเจ้าหน้าที่รัฐจะตามตรวจสอบเงินดิจิทัลทุกบาท ทุกสตางค์ได้ ไม่ว่าจะถูกเปลี่ยนมือไปกี่ครั้ง จนพบผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงในการก่ออาชญากรรมดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย ต่างจากรูปแบบการใช้เงินสดในปัจจุบันที่อาชญากรสามารถใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อฟอกเงินได้ จึงเกิดปัญหาการฟอกเงินทั้งในประเทศและการโอนเงินไปฟอกในต่างประเทศ ดังที่เคยปรากฏข่าวผู้ชื่อเสียง รวมทั้งนักการเมืองหลายคนปรากฏชื่อในเอกสารปานามาเปเปอร์ส หรือปานามาลีก โดยเอกสารเหล่านี้ได้บอกเล่าวิธีการที่นักการเมืองและอดีตผู้นำประเทศใช้ซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ในต่างประเทศ ซึ่งกลายเป็นประเด็นวิจารณ์ในสังคมขณะนั้นว่า ผู้มีชื่อเหล่านี้พัวพันการฟอกเงินหรือไม่

“เงินดิจิทัล” อาจทำให้ปัญหาการฟอกเงินหมดไปสอดคล้องกับความเห็นของ นายสถาพน พัฒนะคูหา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สมาร์ทคอนแทรคท์(ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน สินทรัพย์ดิจิทัล และสมาร์ทคอนแทรคท์ ที่มองว่า บล็อกเชนสามารถพัฒนามาใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมอย่างแอปพลิเคชันเป๋าตัง ระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้ให้บริการเอกชน รวมทั้งสามารถใช้งานทดแทนระบบการโอนเงินของธนาคารพาณิชย์ได้ เพราะเป็นระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุมที่เก็บสถิติการทำธุรกรรมทางการเงินและสินทรัพย์ชนิดอื่นๆ ในอนาคต โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางที่เป็นสถาบันการเงินหรือสำนักชำระบัญชี ทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมถูกลง และเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่ไม่มีตัวกลางนี้ จะช่วยทำให้ข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับระบบอื่นๆ ด้วย เช่น นำมาใช้ในการเก็บสถิติการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใส ระบบบันทึกทางการแพทย์ และระบบจัดเก็บกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่างๆ เป็นต้น จึงแทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า การพัฒนาบล็อกเชนจะสามารถทดแทนระบบธนาคาร หรือระบบเงินวอลเลท และทำให้ปัญหาที่เกิดจากการทำธุรกรรมทางการเงินที่รุนแรงในปัจจุบัน เช่น บัญชีม้า (หรือซิมม้าเป็นบัญชีธนาคารที่มิจฉาชีพใช้) แฮกเกอร์เข้าระบบโอนเงินไปจากธนาคาร หรือรูปแบบการหลอกลวงให้โอนเงินต่างๆ จะหมดไป เพราะอาชญากรจะไม่ทำในสิ่งที่รู้ว่ารัฐตรวจสอบได้และตนเองจะต้องถูกจับอย่างแน่นอน      

อย่างไรก็ตาม หลายโครงการรัฐที่ผ่านมา ยังปรากฏปัญหาความไม่เสถียรและประสิทธิภาพของระบบต่างๆ ของภาครัฐบ่อยครั้ง การใช้เงินดิจิทัลยังคงเป็นรูปแบบที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในระดับสูงซึ่งความไม่เสถียรในระบบเทคโนโลยีของโครงการภาครัฐที่ผ่านมา อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อโครงการนี้ ศักยภาพในการต่อต้านการทุจริตจะประสบความสำเร็จหรือไม่จากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ จึงต้องมีความศึกษา วิเคราะห์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดเข้าใจในเทคโนโลยีดังกล่าว ก่อนจะตัดสินใจเหมาะสมหรือไม่ เพราะคนท้องถิ่นแล้ว น้อยคนนักที่จะรู้ว่า “เงินดิจิทัล” หรือ “Blockchain” คืออะไร ซึ่งความเข้าใจ ความไว้วางใจ ความโปร่งใส ระหว่างรัฐกับประชาชนนี้เอง จะเป็นองค์ประกอบที่ส่งผลต่อความสำเร็จในทุกโครงการ การดูถูกด้อยค่ากันตั้งแต่เริ่มแรกที่ยังไม่ได้ทำ จะว่าเป็นการท้าทายศักยภาพในการบริหารจัดการที่ไม่ล้อเล่น เพราะ บ้านเมืองมิใช่สถานที่ทดลองทางสังคม แต่ว่านโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค หรือโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง (2545) เมื่อ 20 ปีก่อน ก็ถูกท้าทายด้อยค่ามาแล้วเช่นกันว่าทำไม่ได้ ฉะนั้น การนำเงินดิจิทัลมาใช้อย่างเหมาะสมอาจเป็นมากกว่า “ทางเลือก” แต่อาจเป็น “ทางรอด” ในการแก้ปัญหาของประเทศไทยก็เป็นได้