องคมนตรีติดตามโครงการด้านพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 จ.พิษณุโลก
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วย นายศุภรัชต์ อินทราวุธ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา สำนักงาน กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำของโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก โดยรับฟังรายงานผลการดำเนินงานโครงการและสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศและในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จากผู้แทนกรมชลประทาน รวมถึงการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา การคาดการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยา โอกาสนี้ องคมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานโครงการ จากนั้น ได้ปลูกต้นไทรย้อยใบแหลม ณ บริเวณด้านหน้าอาคารที่ทำการโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ พร้อมทั้งเยี่ยมชมสภาพพื้นที่โครงการฯ บริเวณสันเขื่อน และร่วมปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2525 ความตอนหนึ่งว่า “…ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างเขื่อนเก็บน้ำแควน้อยที่ อำเภอวัดโบสถ์ โดยเร่งด่วนและควรให้เก็บน้ำได้อย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่าง และสามารถจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการชลประทานพิษณุโลก โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ต่อไป….” และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน Khwae Noi Bamrungdan Dam” ซึ่งหมายถึง เขื่อนแควน้อยที่ทำให้มีความเจริญขึ้นในพื้นที่
โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเขื่อน 3 ตัว ได้แก่ เขื่อนแควน้อยเป็นเขื่อนหินถมดาดหน้าด้วยคอนกรีต (CFRD) เขื่อนสันตะเคียนเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว และเขื่อนปิดช่องเขาต่ำเป็นเขื่อนดินถมแบ่งส่วน (Zoned Dam) ปิดกั้นลำน้ำแควน้อย ที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เก็บกักน้ำได้ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยที่เคยเกิดในเขตพื้นที่อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ประมาณ 75,000 ไร่ อีกทั้งเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคและกิจการประปา 8 แห่ง 4,350 ครัวเรือน และสนับสนุนการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก และยังช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตรให้แก่พื้นที่ชลประทานแควน้อย 155,166 ไร่ และช่วยเสริมระบบชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ประมาณ 250,000 ไร่ ทั้งยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำและเป็นแหล่งประกอบอาชีพด้านประมง รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพิษณุโลก ตลอดจนเป็นแหล่งเผยแพร่เรียนรู้โครงการชลประทานตามแนวพระราชดำริ และยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอีกด้วย
ในช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก ณ ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก โดยผู้แทนสำนักงาน กปร. กล่าวภาพรวมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในจังหวัดพิษณุโลก ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ รายงานผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากนั้นองคมนตรีให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการฯ ปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 52 โครงการ ทั้งนี้ที่ประชุมหารือความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พื้นที่จังหวัดพิษณุโลกที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการฝายกั้นลำน้ำภาคพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของราษฎร จำนวน 550 ไร่ และส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ราษฎร จำนวน 200 ครัวเรือน และโครงการระบบประปาบ้านโคกผักหวานพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการโดยมีพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการประมาณ 800 ไร่ จำนวน 148 ครัวเรือน ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการในครั้งนี้
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.