วันนี้ (2 พ.ย. 2566) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รชค.) พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข  ผู้อำนวยการ กทท. พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรี รัฐกร เขียวไพศาล นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการ​ กทท. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และผู้บริหารฯ ร่วมให้การต้อนรับ

สำหรับการลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการครั้งนี้​ รชค.  ได้รับฟังการบรรยายสรุปกิจการโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของ​ ทลฉ.​ พร้อมทั้งตรวจติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณพื้นที่ท่าเรือและการดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนา​ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 โดยมีผู้อำนวยการ​ กทท.​ เป็นผู้บรรยาย ณ หอบังคับการพัฒนาแหลมฉบัง  

"ความคืบหน้างานจ้างเหมาก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง​ระยะที่​ 3 ส่วนที่ 1 ผู้รับจ้างฯ ได้ส่งมอบพื้นที่ถมทะเลพื้นที่​ 1 และ​ 2 เรียบร้อยแล้ว​ สำหรับพื้นที่ถมทะเล​ พื้นที่​ 3 คาดว่าจะส่งมอบภายในเดือนมิถุนายน​ 2567​ และ​ กทท. สามารถส่งมอบพื้นที่​ F1 ของโครงการให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญาได้ภายในปลายปี​ 2568" 

นอกจากนี้​ รชค.​ ได้เข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงาน ณ ท่าเทียบเรือ D บริษัท ฮัทชิสัน เทอร์มินัล จำกัด​ และ ลงพื้นที่ตรวจการปฏิบัติงานของโครงการศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ  (Single Rail Transfer Operator : SRTO) 

ผู้อำนวยการ​ กทท.​ บรรยายสรุปและให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ​ SRTO​ ว่า​ "สำหรับโครงการ​ SRTO​ ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ ระหว่างท่าเทียบเรือชุด B และชุด C​ พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้าด้วยระบบรางที่ท่าเรือแหลมฉบัง​ สนับสนุนการขับเคลื่อน​การขนส่งหลายรูปแบบ​ทั้งทางบก​ ทางราง​ ทางน้ำ​อย่างไร้รอยต่อ​ ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดมลภาวะ ลดต้นทุนการขนส่ง และพัฒนาระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ

โครงการฯ​ ดังกล่าว​ มีวงเงินลงทุนประมาณ​ 3,000 ล้านบาท​ โดย​ กทท.​ เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือยกขนหลักทั้งหมด และให้ท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการจ้างเหมาเอกชนบริหารจัดการตู้สินค้าในโครงการฯ​ 

สำหรับ​ในปีงบประมาณ​ ​2566​ มีตู้สินค้าผ่านท่า​ภายในโครงการ​ SRTO​ ทั้งสิ้น 413,000 ทีอียู ตั้งเป้าหมายปีงบประมาณ​ 2567​ ปริมาณตู้เพิ่มขึ้นเป็น 440,000 ทีอียู ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อเครื่องมือยกขนในโครงการระยะที่​ 2  ได้แก่​ Rail Mounted Gantry Crane จำนวน​ 2 คัน​ และ​ Rubber Tyred Gantry Crane จำนวน​ 4 คัน​ คาดหากแล้วเสร็จปี​ 2568 จะเพิ่มประสิทธิภาพ​การรับตู้สินค้าเพิ่มเป็น​ 1 ล้าน​ ทีอียู"