วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน กทม. ถึงมาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5 กรณีค่าฝุ่นเกิน76 มคก./ลบ.ม. หรือในระดับสีแดง ว่า หากค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 76 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป 2-5 เขต ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาใช้ดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจ ครั้งละไม่เกิน 15 วัน หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดงมากกว่า 5 เขต ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใช้ดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจโดยไม่จำกัดระยะเวลา หากไม่ปิดการเรียนการสอนจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนในโรงเรียนและดำเนินมาตรการป้องกันฝุ่นอย่างเคร่งครัด รวมถึง การลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วนบริเวณ Low Emission Zone

 

นอกจากนี้ หากพยาการณ์คาดว่าจะมีปริมาณฝุ่นมากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประกาศขอความร่วมมือบริษัทเอกชนพิจารณาให้พนักงานทำงานจากระยะไกล และหน่วยงานภาครัฐพิจารณาใช้นโยบายการปฏิบัติงานในที่พัก (Work From Home) ตามห้วงเวลาที่กำหนด โดยกรมควบคุมมลพิษและสำนักสิ่งแวดล้อมสนับสนุนข้อมูลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น ผ่านทุกช่องทางการสื่อสารของกรุงเทพมหานครและกรมควบคุมมลพิษพร้อมตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน และขอให้สถานประกอบการหลอมโลหะ หรือกิจการที่มีการใช้หม้อต้มไอน้ำด้วยเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล ชีวมวล ถ่านหินในพื้นที่วางแผนลดการผลิต 100% เพื่อลดการเผาไหม้เชื้อเพลิง

 

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ในส่วนการก่อสร้าง กทม.ประสานขอความร่วมมือสถานที่ก่อสร้างควบคุมรถบรรทุกที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี เข้าพื้นที่ก่อสร้าง และประสานขอความร่วมมือสถานที่ก่อสร้างและธุรกิจขนส่งสินค้าเลี่ยงเส้นทางของรถบรรทุกหรือบริเวณที่มีมลพิษสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญในกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญในพื้นที่เขตโดยผอ.เขต รวมถึงบังคับใช้ประกาศอย่างเข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืนมาตรการในประกาศพื้นที่ควบคุมฝ

 

ด้านนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้รับรายงานคาดว่าจะมีค่าฝุ่นสูงในระดับสีส้ม ระหว่าง 37.6-75 มคก./ลบ.ม ในวันที่ 3-5 พ.ย.นี้ โดยเตรียมแบ่งมาตรการรับมือ 3 ส่วน คือ 1.ติดตามเฝ้าระวัง จากการรวบรวมจุดเสี่ยงก่อฝุ่นต่าง ๆ เช่น แหล่งก่อสร้าง เพื่อตรวจว่าแต่ละเขตมีการตรวจจุดเสี่ยงครั้งสุดท้ายเมื่อใด 2.การลดมลพิษ ได้แก่ การใช้อำนาจตาม พรบ.สิ่งแวดล้อม ในการตรวจรถควันดำ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก โดยเน้นที่แหล่งกำเนิด มีผลถึงการพิจารณาระงับใบอนุญาตก่อสร้าง หากพบรถที่ก่อควันดำเกินมาตรฐานในโครงการก่อสร้าง 3.ด้านสุขภาพ เช่น ในโรงเรียนต่าง ๆ กรณีค่าฝุ่นสูงจะมีการจัดกิจกรรมยกธงระดับสีเตือนค่าฝุ่นในโรงเรียน และต่อยอดไปถึงชุมชน รวมถึงในโรงพยาบาลมีการเตรียมคลินิกปลอดฝุ่นรองรับ และสำนักอนามัยมีมาตรการลงพื้นที่เชิงรุกมากขึ้น