เมื่อวันที่ 2 พ.ย.66 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล หรือ ไอติม ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu ระบุว่า...

อย่างที่หลายคนทราบจากแถลงการณ์ของหัวหน้าพรรคเมื่อคืน ว่าในส่วนของข้อกล่าวเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศของ สส. ก้าวไกลใน 2 กรณี กรรมการบริหารพรรคได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าทั้ง 2 กรณี มีพฤติการณ์ที่คุกคามทางเพศจริง และผิดวินัยร้ายแรงของพรรค โดยเสนอให้ขับพ้นจากสมาชิกพรรค

เมื่อมีข้อเสนอดังกล่าว รัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดไว้ว่าการขับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นการลงมติในที่ประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมการบริหารพรรค โดยการลงมตินั้นจะต้องได้รับเสียง 3 ใน 4 ของจำนวน สส. และกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (ไม่ใช่แค่ที่มาประชุม) ซึ่งจะอยู่ที่จำนวน 116 เสียง จาก 154 เสียง

ผลที่ปรากฎจากการลงมติของ สส. และกรรมการบริหารพรรคที่มาร่วมประชุมทั้งหมด 128 คน:

1. กรณี สส. วุฒิพงษ์ ทองเหลา (ปราจีนบุรี)

- 120 คนลงมติให้ขับออก จึงทำให้การขับออกเกิดขึ้นได้ (เนื่องจากมากกว่า 116 เสียงตามเกณฑ์ 3 ใน 4)

2. กรณี สส. ไชยามพวาน มั่นเพียรจิต (กทม.)

- 106 คนลงมติให้ขับออก จึงทำให้การขับออกยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ (เนื่องจากน้อยกว่า 116 เสียงตามเกณฑ์ 3 ใน 4)

ผมเข้าใจดีว่า สส. ในที่ประชุมคนแต่ละคนได้อภิปรายและลงมติบนข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่มีการเปิดเผยความเห็นหรือการลงมติรายบุคคล แต่ล่าสุด มีบางเพจที่ได้กล่าวหาว่าผมเป็น 1 ใน สส. ที่ลงมติไม่เห็นชอบกับการขับออกคุณไชยามพวาน รวมถึงกล่าวหาว่าผม “รวบรวมเสียง” ให้คนโหวตไม่เห็นด้วยกับการขับออกเพื่อปกป้อง “พวกพ้อง” เนื่องจากผมรู้จักกับคุณไชยามพวานมาก่อนที่เขาจะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล

ผมถือว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่อยู่บนข้อเท็จจริงและเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ผมจึงจำเป็นต้องชี้แจงความจริงดังต่อไปนี้

1. ผมยืนยันว่าจุดยืนและการทำงานของผมตลอดที่ผ่านมา ยึดอยู่บนหลักการที่ผมคิดว่าถูกต้องและข้อเท็จจริงเท่านั้นในทุกกรณี ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับคนที่ผมรู้จักหรือเคยร่วมงานกันมามากน้อยแค่ไหน

2. แม้ผมไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการวินัยและกรรมการบริหารพรรคที่รับผิดชอบเรื่องการพิจารณาข้อเท็จจริงของทุกข้อร้องเรียนทางวินัย แต่ในฐานะโฆษกพรรค ผมย่อมต้องมีการทำงานร่วมกันกับคณะกรรมการวินัยในขั้นตอนที่ต้องมีการเตรียมการสื่อสาร - ดังนั้น เมื่อผมทราบว่ามีเรื่องร้องเรียนต่อคุณไชยามพวาน ผมจึงได้ระมัดระวังและเว้นระยะห่างเป็นพิเศษจากกระบวนการทั้งหมดในกรณีนี้ โดยได้แจ้งเหตุผลดังกล่าวต่อประธานกรรมการวินัยพรรค และหลีกเลี่ยงในการแสดงความเห็นใดๆนอกรอบกับ สส. ทุกคนในพรรคที่สอบถามเข้ามา

3. ในที่ประชุมเมื่อวานที่คณะกรรมการวินัยและกรรมการบริหารพรรคได้มีการรายงานข้อเท็จจริงต่อ สส. ทุกคน เพื่อเปิดให้มีกาารอภิปรายความเห็นก่อนจะลงมติ ผมก็ได้ลุกขึ้นอภิปราย โดยมีประเด็นที่สำคัญว่า

- (i) ในมุมมองของผม การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่มีความผิดที่ชัดเจน คือการมีความสัมพันธ์กับทีมงานของตนเอง เพราะไม่ว่าสถานการณ์เฉพาะหน้าดูเหมือนจะมีการยินยอมหรือไม่ แต่ในเมื่อทั้งสองอยู่ใน “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน” ที่ฝ่ายหนึ่งสามารถให้คุณให้โทษอีกฝ่ายหนึ่งได้ในหน้าที่การงาน ดังนั้น จึงไม่สามารถถูกตีความได้ว่าเป็น “ความยินยอม” ที่แท้จริง

- (ii) หากตระหนักว่ากระทำผิดดังกล่าว ทางออกที่ควรจะเป็นคือการที่ผู้กระทำผิด แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง โดยที่ไม่ต้องรอให้มีกระบวนการวินิจฉัยลงโทษอย่างเป็นทางการ

4. ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงเป็น 1 คนที่ลงมติเห็นด้วยกับการขับออกคุณไชยามพวาน ซึ่งเป็นการลงคะแนนแบบเปิดเผยที่เพื่อนๆ สส. ทุกคนรับรู้ และเป็นการตัดสินใจบนหลักการและเหตุผลที่ผมยึดถือ

5. ผมขออภัยเพื่อนๆ สส. ที่ผมจำเป็นต้องเปิดเผยการลงมติของตนเองต่อสาธารณะ แต่ผมจำเป็นต้องชี้แจงข้อกล่าวหาที่รุนแรงว่าผมได้ใช้เหตุผลเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวในการลงคะแนนและโน้มน้าวคนอื่นในการลงคะแนน ซึ่งไม่เป็นความจริง และผมเชื่อว่า สส. คนอื่นที่เห็นต่างกับผมและลงมติไม่เห็นด้วยกับการขับออกคุณไชยามพวาน ก็ได้ตัดสินใจบนหลักการและเหตุผลที่เขายึดถือ ไม่ใช่เพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือการ “ปกป้องพวกพ้อง”

ผมเชื่อว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับเหตุผลหรือการตัดสินใจของผม แต่ผมยืนยันว่าทุกการตัดสินใจของผมยึดอยู่บนหลักการที่ผมเชื่อว่าถูกต้อง และเป็นหลักการที่ต้องนำมาใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค