“...ขอให้ศาลาหลังนี้จงเป็นที่พำนักแห่งความรัก และความเข้าใจสำหรับบรรดาผู้เดินทางที่มาจากทางตะวันออกและทางตะวันตกทั่วหน้ากัน” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนศูนย์ตะวันออก–ตะวันตก หรือ East–West Center ณ มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา พระราชทานศาลาไทยเป็นของขวัญเชื่อมสัมพันธไมตรีให้แก่ศูนย์แห่งนี้ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2510 กล่าวการสร้างศาลาไทยในต่างประเทศ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและโอกาสสำคัญต่างๆ มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างศาลาไทยเป็นแห่งแรก ณ เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างศาลาไทย เพื่อพระราชทานให้เมืองบาด ฮอมบวร์ก สาธารณรัฐเยอรมนี ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวง รัชกาลที่9” โปรดให้สร้าง โดยมีความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้างศาลาไทยเพื่อเทิดพระเกียรติ ในโอกาสเฉลิมฉลองวาระสาคัญต่างๆ หลายแห่ง ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ดังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ในหลวง รัชกาลที่9” โปรดให้สร้างขึ้นตามแบบศาลาไทย “ปาฏิหาริย์ทัศนัย” เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญเชื่อมสัมพันธไมตรีให้แก่ศูนย์ตะวันออก–ตะวันตก หรือ East–West Center ณ มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อคราวที่พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2510 กระแสพระราชดำรัสสั้นๆ อันจับใจในโอกาสพระราชทานศาลาไทยในครั้งนั้น ยังความชื่นชมโสมนัสแก่ผู้เข้าร่วมพิธียิ่งนัก ดังนี้ “...ก่อนที่ข้าพเจ้าจะมอบศาลาไทยหลังนี้ให้แก่ศูนย์ตะวันออก–ตะวันตก ข้าพเจ้าคิดว่า คงจะไม่เป็นการออกนอกเรื่องที่จะอธิบายถึงความประสงค์ดั้งเดิมของศาลาเช่นนี้ ในประเทศของข้าพเจ้า การเดินทางโดยทางบกก่อนที่จะมีถนนและทางหลวงย่อมหมายถึงการบุกป่าฝ่าดง ด้วยช้าง ด้วยเกวียน หรือด้วยการเดินเท้า ในสมัยนั้นการเดินทางเป็นได้ด้วยความเชื่องช้าและเหน็ดเหนื่อย เป็นธรรมเนียมที่คนจะสร้างศาลาอย่างเดียวกับหลังนี้ไว้ตามทาง เพื่อให้คนเดินทาง ผู้เหนื่อยอ่อนได้หยุดพัก ศาลาเหล่านั้น สร้างขึ้นด้วยความรักและความปรารถนาดีอย่างบริสุทธิ์ใจ ที่มีต่อผู้อื่น... ศาลาเก่าแก่เหล่านั้น บางหลังยังตั้งอยู่ในที่อันเปล่าเปลี่ยวในประเทศของข้าพเจ้า โดยมิได้รับใช้คนเดินทางตามความประสงค์เดิมเสียแล้ว แต่ก็ยังคงมีเหลืออยู่เป็นสัญลักษณ์ อันแสดงถึงความรักและความห่วงใยในเพื่อนมนุษย์ ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐานให้ศาลาหลังนี้ ตั้งมั่นเป็นสัญลักษณ์แห่งภราดรภาพและความเอื้ออาทรอันเปี่ยมล้นอยู่คู่กับศูนย์แห่งนี้สืบไป ขอให้ศาลาหลังนี้จงเป็นที่พำนักแห่งความรัก และความเข้าใจสำหรับบรรดาผู้เดินทางที่มาจากทางตะวันออกและทางตะวันตกทั่วหน้ากัน” ศาลาไทย “ปาฏิหาริย์ทัศนัย” ศูนย์ตะวันออก–ตะวันตก มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา แล้วพระองค์ทรงจบพระราชดำรัสว่า “...บัดนี้ข้าพเจ้าจะทำพิธีอันเป็นมงคล ในการอุทิศศาลาหลังนี้ตามประเพณีไทย และหลังจากนั้นในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าของศาลาหลังนี้แล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขออนุญาตจากท่าน เพื่อขอพักในศาลานี้สักครู่หนึ่ง ก่อนที่ข้าพเจ้าจะออกเดินทางต่อไป” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมต้นเสาศาลาไทย ตามพิธีมงคลประเพณีไทยให้แก่ศูนย์ตะวันออก-ตะวันตก มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2510 (คัดเนื้อความจากลักษณะไทย เล่ม4 วัฒนธรรมพื้นบ้าน น.216–217 และภาพ, ธนาคารกรุงเทพ พิมพ์ 2549) เมื่อเวลาล่วงผ่านไป ศาลาไทยหลังนี้เกิดชำรุดเสียหาย ทางรัฐบาลไทยและอีสเวสต์เซนเตอร์ได้ร่วมกันขอพระบรมราชานุญาตบูรณะใหม่ในปี 2549 สองปีต่อมา ในเดือนมีนาคม 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนศูนย์ East-West Center ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดศาลาไทยที่ได้รับการบูรณะใหม่หลังนี้ นอกจากนี้แล้วยังมีศาลาไทยที่ระลึก ณ ออลบริคการ์เด้น เมืองเมดิสัน รัฐวิสคอนซิน ในสหรัฐฯ เป็นศาลาไทยที่สร้างโดยสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซินแห่งประเทศไทย ในนามของรัฐบาลไทย จัดสร้างขึ้นเพื่อมอบให้แก่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินและเมืองเมดิสัน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2542 ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยรัฐบาลไทยและเทศบาลเมืองโลซานน์ ร่วมมือกันจัดสร้างขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (พ.ศ.2549) และฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ครบ 75 ปี ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะเดอน็องตู สมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดศาลาไทยหลังนี้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 ศาลาไทยในต่างแดน นอกจากเป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทยอันสง่างามแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งภราดรภาพ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันดีงาม ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น