วันที่ 1 พฤศจิกายน  2566 ศาลรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารข่าวเผยแพร่ผลการประชุมกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ กรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของส.ส. ของนายพิธา สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่

โดยคดีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ซึ่งที่ผ่านมา นายพิธายื่นขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน โดยศาลรัฐธรรมนูญดำเนินกระบวนพิจารณามาแล้ว 11 ครั้ง เรียกให้บุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งเอกสารหลักฐาน จำนวน 12 ราย ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และให้รอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งศาลเรียกไปก่อนหน้านี้ และเรียกให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งคำชี้แจงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมด้วย โดยกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น.

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดี กรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่.. พศ….) เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ซึ่งคดีดังกล่าวผู้ถูกร้องทั้งสอง ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีระบุพยานบุคคล และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม

โดยศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินกระบวนพิจารณาและรวบรวมพยานหลักฐานมาแล้ว จำนวน 37 ครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แล้วกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อ ในวันและเวลาเดียวกับคดีแรก