เมื่อเวลา 12.30 น.วันที่ 1 พ.ย.ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มรภ.) วิทยาเขตอุเทนถวาย นักศึกษาทั้งศิษย์ปัจจุบัน และศิษย์เก่าอุเทนถวายฯ กว่า 200 คน นัดรวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม และติดตามผลการหารือเรื่องการคัดค้านหลังศาลปกครองมีคำสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ
ต่อมาเวลา 13.00 น.กลุ่มนิสิตปัจจุบันมีการตั้งแถวให้การต้อนรับ พร้อมมอบช่อดอกไม้ให้กับ รองศาสตราจารย์ ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ อธิบการดีมหาวิทยาลัยฯ เพื่อขอบคุณและเป็นกำลังใจที่อธิการบดีไม่ร่วมลงนามหนังสือการสั่งย้ายอุเทนถวายฯ จากการประชุมครั้งที่แล้ว จากนั้นได้เดินไปสักการะ องค์พ่อพระวิษณุกรรม ก่อนจะเข้าประชุมร่วมกันโดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ฤกษ์ชัยฯ อธิการบดี และคณะผู้บริหารสมาคมผู้ปกครอง สมาคมศิษย์เก่า และนักศึกษาศิษย์ปัจจุบัน โดยการประชุมครั้งนี้ไม่มีตัวแทนจาก กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตรวิจัย และนวัตกรรม (อว.) และ ตัวแทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุมด้วย
ภายหลังการประชุมนานเกือบ 3 ชั่วโมง ทางอธิบการดีมหาวิทยาลัยฯ เปิดเผยว่า เป็นการมาทำเข้าใจและมาเล่าให้ฟังในสิ่งที่ไปหารือกับ ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.(อว.) เมื่อวันที่ (25 ต.ค.) โดยเฉพาะประเด็นเรื่องนักศึกษาอาจจะไม่สบายใจ จะกระทบการเรียน และหลังจากนี้รัฐมนตรี อว.ก็จะเป็นหัวหลักเพื่อหารือนัดแรกอีกครั้ง หลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อมาหารือในการหาทางออกร่วมกัน ซึ่งคณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้น ก็จะมีปลัดกระทรวง อว.เป็นชุดขับเคลื่อน และอธิการบดีฯจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,อธิการบดีอุเทนถวายฯ , กรมธนารักษ์, สำนักงบประมาณ, สำนักอัยการสูงสุด, สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย และนายกสโมสรนักศึกษา เพื่อหารือร่วมกัน และคาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องกรอบระยะเวลาด้วยเพราะการหารือไม่ใช่แค่มิติทางการศึกษา แต่มีมติด้านของวัฒนธรรมด้วย
อธิการบดีฯ เผยอีกว่า ส่วนพื้นที่ของอุเทนถวายจะยังอยู่ที่นี่หรือไม่นั้น มองว่า วันนี้ต้องขอบคุณรัฐมนตรี เพราะถือเป็นครั้งที่เป็นการมาหาทางออกร่วมกัน และมีนักศึกษาเข้าไปร่วมเป็นกรรมการ และศิษย์เก่า ส่วนจะเดินต่อไปอย่างไรต้องรอผลการหารือ โดยทางรัฐมนตรีอว.จะมีการแจ้งนีดหมายมาอีกครั้ง
โดยการประชุมในวันที่ 25 ต.ค. รัฐมนตรีว่าการ อว. ไม่ได้พูดถึงเรื่องย้าย แต่พูดถึงการขยายพื้นที่และยกระดับ และจะต้องไปรอดูว่าทางออกเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยมีทางออกที่สบายใจเสมอ โดยรัฐมนตรี อว. จะทำให้เกิดความชัดเจน ตามที่มีการหารือในการตั้งคณะกรรมการ และวันนี้จะต้องเริ่มเดินด้วยกัน
ส่วนกรณีคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ให้อุเทนถวายต้องย้ายนั้น ตนมองว่ารัฐมนตรีฯ มองไกลกว่านั้น ในการขยายพื้นที่หากทุกอย่างลงตัวทางออกก็จะออกมาดีที่สุด วันนี้เป็นการมาคุยเรื่องอุเทนถวายเป็นสมบัติของชาติมากกว่า ไม่ได้บอกว่าจะย้าย ท่านบอกว่าเป็นการขยาย และท่านก็ไม่ได้ฟันธง เป็นการเริ่มต้นในการพูดคุยกัน ถ้าถามใจทุกคนรักที่นี่ แต่จะเดินอย่างไรนั้นอีกเรื่อง
อธิการบดีฯ ยังเผยอีกว่า สำหรับความชัดเจนที่ให้ความมั่นคงได้ก็คือ นักศึกษาที่เข้ามาอุเทนถวานก็จะได้รับการศึกษาที่ถูกต้องตามมาตรฐาน และคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของอุเทนถวายอย่างแน่นอน ส่วนการขยายในพื้นที่เดิมหรือพื้นที่ใหม่อย่างไรนั้น ตนเองคงตอบไม่ได้ แต่ต้องขยายเรื่องเชิงโครงสร้างอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ยังยืนยันด้วยว่า อุเทนถวายไม่ได้ทะเลาะกับจุฬาลงกรณ์ และสามารถพูดคุยกับจุฬาฯได้เพราะเป็นพี่น้องกันรั้วเดียวกัน ส่วนการแสดงออกของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันนั้นก็เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และเชื่อว่า อุเทนถวายมีความเป็นลูกผู้ชายมากพอ
“อุเทนถวายควรเป็นสถาบันก่อสร้างหลักของประเทศไทย เป็นมรดก เป็นสิ่งที่ใครก็ซื้อเวลา90กว่าปีมาไม่ได้ ส่วนจะเดินต่อไปอย่างไรคงต้องรอการประชุม” อธิการบดีอุเทนถวายกล่าว
ด้านนายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ตั้งโต๊ะแถลงหลังหารือเสร็จสิ้น พร้อมกล่าวว่า ตลอดการประชุมได้แจ้งเจตต์จำนงว่า “อุเทนถวายจะไม่ย้าย” และหลังจากนี้จะมีการตั้งทีมคณะกรรมการเพื่อไปคุยกับ กระทรวง อว. ภายในสัปดาห์นี้ รวมถึงจะรวบรวมรายชื่อ ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อขอร่างพระราชบัญญัติ อีกด้วย
ด้านนายเดชา เดชะตุงคะ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่า กล่าวว่า การประชุมในครั้งหน้ากับคณะกรรมการ ทางอุเทนถวายฯ จะไปเสนอเรื่องของการปรับแก้กฎหมาย ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงประชมสมาคม ภาคประชาชน ในการล่ารายชื่อทั้งศิษย์เก่า ปัจจุบัน และประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องดังกล่าวให้มาลงประชามติ ซึ่งการหารือ ที่มีการพูดว่าจะขยายและยกระดับอุเทนถวายฯ ให้สมศักดิ์ศรี ตนเองยืนยันว่า สามารถย้ายได้ถ้ามีมติ แต่เป็นการขยายพื้นที่การศึกษา แต่จุดหลักจะยังคงอยู่ที่เดิมด้วยและจะไม่มีการย้ายไปไหน ส่วนที่ว่าจะมีปัญหากับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันไม่ได้มีปัญหา เพราะก็อยู่รั้วเดียวกัน มานาน 93 ปี และสุดท้ายหากมีมติจะต้องคืนที่ดินดังกล่าว ทั้งศิษย์เก่าและปัจจุบันจะไม่ยอมคืนให้จุฬาแต่จะยินยอมคืนให้สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เท่านั้น
ขณะที่บรรยากาศโดยรอบมหาวิทยาลัยฯ กลุ่ม นศ.อุเทน มีการนำป้ายข้อความคัดค้านการย้ายอุเทนถวายมาติด เป็นข้อความเชิงสัญลักษณ์ในการแสดงออกถึงจุดยืนในการคัดค้าน ส่วนการดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย ตำรวจควบคุมฝูงชนจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 เตรียมกำลัง 1 กองร้อย กระจายกำลังดูแลความเรียบร้อย รวมถึงได้ทำการตรวจคัดกรองบุคคลที่จะผ่านเข้ามาภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยฯ ทุกคน และคัดกรองอาวุธต่างๆด้วย ทั้งตรวจค้นบุคคลและคัดกรองรถที่ผ่านเข้ามาภายในมหาวิทยาลัยเพื่อเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัย