จากกรณีที่มีข่าวปรากฏว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมออกประกาศกำหนดให้ผู้ที่ถือครองยาบ้า (เมทแอมเฟตามีน) จำนวนต่ำกว่า 10 เม็ดนั้นให้ถือเป็นผู้เสพ ไม่ใช่ผู้ค้า โดยเป็นการอ้างอิงจากข้อมูลที่มีการระบุไว้ว่าผู้เสพจะใช้ยาบ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 10 เม็ด ซึ่งเทียบเท่าเสพสารบริสุทธิ์ปริมาณ 150 มิลลิกรัมต่อวันไม่มากเกินกว่านี้

วันที่ 1 พ.ย.66 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเพื่อให้ความเห็นชอบ และเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเรื่องจำนวน ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานด้านการปราบปรามยาเสพติดให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เรื่องการลดปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในชุมชนและตัดวงจรผู้ค้ารายย่อยให้หมดไป ก็เห็นควรกำหนดปริมาณยาเสพติดไว้ที่ 5 หน่วยการใช้ หรือ 5 เม็ดเท่านั้น

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวอีกว่า การกำหนดปริมาณยาเสพติดที่ 5 หน่วยการใช้ หรือ 5 เม็ด ได้ผ่านการหารือจากหน่วยที่เกี่ยวข้องในเวทีการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอ.ปส.ตร.) แล้ว โดยขณะนั้นมี พล.ต.อ. ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีต ผบ.ตร.เป็นประธาน ในการหารือให้เหตุผลว่าเป็นปริมาณยาเสพติดที่ผู้ค้ารายย่อยไม่คุ้มค่าความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี หากกำหนดปริมาณยาเสพติดที่ 10 หน่วยการใช้ หรือ 10 เม็ด จะเป็นปริมาณที่ผู้ค้ารายย่อยนิยมจำหน่ายในชุมชน หากถูกจับกุมก็สามารถเลี่ยงการถูกดำเนินคดี โดยสมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ และจะทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดในชุมชน และเกิดผู้ค้ารายย่อยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งอนาคตผู้ค้ากลุ่มนี้ จะพัฒนาไปเป็นผู้ค้ารายใหญ่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตมีการเพิ่มเติมเกณฑ์การกำหนดปริมาณที่ใช้ครอบครองเพื่อเสพชัดเจนแล้ว ผลดีที่จะตามมาคือจะช่วยให้การดำเนินการกับผู้ค้ารายย่อย และการคัดแยกผู้เสพเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษามีความชัดเจนขึ้น หากคัดแยกผู้ค้ารายย่อยไปสู่ระบบการดำเนินคดีได้มาก และลด ความต้องการซื้อจากผู้เสพในชุมชน จะช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องปรับแนวทางเพื่อรับเกณฑ์ใหม่อย่างไรบ้าง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า กรณีข้อหาครอบครองเพื่อเสพถือเป็นข้อหาใหม่ ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้มาก่อน หากมีกฎกระทรวงประกาศใช้จริง ก็เห็นควรให้ ตร. แจ้งให้ทุกหน่วยทราบเพื่อถือปฏิบัติตาม ซึ่งที่ผ่านมาตลอด 2 ปี การที่ไม่มีกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดที่มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพอย่างชัดเจน ถือเป็นปัญหาอุปสรรคในการจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายยาเสพติด โดยผู้ที่ถูกจับกุมจะอาศัยช่องว่างนี้แอบอ้างว่าเป็นผู้เสพ ทำให้เจ้าหน้าที่เองต้องใช้ดุลยพินิจในการแจ้งข้อหา หรือดำเนินคดี หรือต้องตรวจสอบพฤติการณ์คดีรายย่อยเพียงเพื่อทราบว่าเป็นผู้ค้าหรือผู้เสพ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ 
 

#ยาบ้า #สาธารณสุข #ผู้เสพ #ผู้ขาย #สำนักงานตำรวจแห่งชาติ