วันที่1พ.ย.2566-ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังว่างเว้นหายไปนานสำหรับสถานการณ์ประกันง่อนแง่นบางราย จนถึงขั้นทางการต้องสั่งแก้ไขฐานะการเงินเพื่อคลี่คลาย ในที่สุดก็มาเขย่าขวัญจนได้ส่งท้ายปี2566 หลังจากเมื่อเร็วๆนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ได้ตรวจพบและมีการออกคำสั่งนายทะเบียน ที่ 37/2566 เรื่องให้บริษัทประกันวินาศภัยรายหนึ่งแก้ไขฐานะและการดำเนินงานตามที่นายทะเบียนกำหนด ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551
โดยเนื้อความสาระสำคัญของคำสั่งระบุว่า ตามที่ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่าบริษัท....... ประกันภัย 1.ไม่ได้ยื่นงบการเงินที่ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชี และรายงานกระทบยอดรายการตามงบการเงิน รายงานฐานะการเงินและกิจการของบริษัท และรายงานการดำรงเงินกองทุนสำหรับงวดไตรมาส 2/2566 2.ไม่ได้ยื่นรายงานการดำรงเงินกองทุนสำหรับงวดไตรมาส 2 งวดเดือนกรกฎาคมและงวดเดือนสิงหาคม 2566 3.ไม่ได้ยื่นรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและกิจการของบริษัท งวดเดือนกรกฎาคมและงวดเดือนสิงหาคม 2566 4.ยื่นรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและกิจการสำหรับงวดไตรมาส 2/2566 แต่บริษัทยังไม่ได้ยื่นงบการเงินในงวดบัญชีเดียวกันที่ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชี จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ข้อมูลในรายงานถูกต้องหรือสามารถกระทบข้อมูลได้ กับข้อมูลงบการเงินของบริษัทสำหรับงบการเงินในงวดบัญชีเดียวกัน
ซึ่งการที่บริษัทไม่ได้ยื่นงบการเงินและรายงาน ตามข้อมูลข้างต้น เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 27/5 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 9 แห่งประกาศคณะกรรมการ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ในการจัดทำและยื่นรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ.2566 ข้อ 6 ของประกาศนายทะเบียนเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจัดทำรายงานการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ.2564 และข้อ 5 ของคำสั่งนายทะเบียนที่ 25/2559 เรื่องให้บริษัทประกันวินาศภัยส่งรายงานกระทบยอดรายการตามงบการเงิน รายงานฐานะการเงินและกิจการของบริษัท และรายงานการดำรงเงินกองทุน ซึ่งนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้บริษัทยื่นให้ครบถ้วนและถูกต้อง ภายในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 แต่บริษัทไม่ได้ยื่นให้ครบถ้วนและถูกต้อง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียนตามมาตรา 51 (3) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535
นอกจากนี้บริษัท....มีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความเสี่ยงที่อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน(CAR Raito) อาจจะต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ถึงแม้ว่าบริษัทจะได้แจ้งต่อนายทะเบียนตามหนังสือที่บริษัทระบุลงวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ว่า บริษัทจะเพิ่มทุนจำนวน 260 ล้านบาท ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือ เพื่อให้บริษัทมีฐานะการเงินที่มั่นคง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าบริษัทจะนำเงินเข้ามาเพิ่มทุนตามกรอบระยะเวลาดังกล่าว
ดูจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลักฐานข้างต้นเป็นเหตุให้ไม่สามารถประเมินได้ว่าบริษัทนั้นมีฐานะการเงินและการดำเนินงานที่มั่นคง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสินทรัพย์ที่จัดสรรไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด นายทะเบียนจึงเห็นว่าบริษัทมีฐานะหรือการดำเนินงานอยู่ลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันหรือประชาชน เพื่อให้การกำกับดูแลและติดตามการแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งการติดตามความมั่นคงทางการเงิน รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันและประชาชน ประกอบกับเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไป จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์สาธารณะ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ คปภ. ในการประชุมครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 จึงมีคำสั่งให้บริษัท.....ประกันภัยดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ยื่นงบการเงินและรายงานทางการเงินภายในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ประกอบด้วย 1.1. งบการเงินที่ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชี และรายงานกระทบยอดรายการตามงบการเงิน รายงานฐานะการเงินและกิจการของบริษัท และรายงานการดำรงเงินกองทุนสำหรับงวดไตรมาส 2/2566 และไตรมาส 3/2566 1.2.รายงานการดำรงเงินกองทุนสำหรับงวดไตรมาส 2/2566 งวดเดือนกรกฎาคม เดือนสิงหาคม และไตรมาส 3/2566 1.3.รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์เงินและกิจการของบริษัทสำหรับงวดไตรมาส 2/2566 และไตรมาส 3/2566 ที่สามารถกระทบข้อมูลได้กับงบการเงินของบริษัทสำหรับงวดบัญชีเดียวกัน และรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและกิจการของบริษัท งวดเดือนกรกฎาคม และงวดเดือนสิงหาคม 2566 2.ให้นำเงินเข้ามาเพิ่มทุนและจดทะเบียนเพิ่มทุนชำระแล้วจำนวน 60 ล้านบาท ภายในเดือนตุลาคม 2566 จำนวน 100 ล้านบาท ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 และ 100 ล้านบาท ภายในเดือนธันวาคม 2566 ตามที่บริษัททำหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียน
และในกรณีที่เงินกองทุนของบริษัทลดลงต่ำกว่าเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้บริษัทเสนอโครงการเพื่อแก้ไขเงินกองทุนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนหรือวันที่ผู้สอบบัญชี หรือบริษัทตรวจพบตามมาตรา 27/5 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3.จัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยให้เป็นตามที่กฎหมายกำหนด 4.ให้ดำเนินการบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอต่อภาระหนี้สินตามสัญญาประกันภัย โดยติดตามสภาพคล่องของบริษัท สถานะการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย 5.ในกรณีที่บริษัทไม่ยื่นงบการเงินและรายงานทางการเงินทุกรายการที่กำหนดตามข้อ 1 ภายในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 หรือไม่นำเงินเข้ามาเพิ่มทุนและจดทะเบียนเพิ่มทุนชำระแล้วให้ครบถ้วน ตามจำนวนและระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งที่กำหนดในข้อ 2 หรือไม่สามารถดำเนินการตามข้อ 3 หรือข้อ 4 แล้วแต่กรณี นายทะเบียนจะดำเนินการตามมติที่ประชุม คณะกรรมการ คปภ. ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566ต่อไป ทั้งนี้หากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนายทะเบียน บริษัทมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ คปภ. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
จากคำสั่งดังกล่าวข้างต้นนี้นับเป็นสถานการณ์ระทึก!ทีเดียว ทั้งนี้คงต้องติดตามกันดูว่า บริษัทประกันรายนี้จะแก้ไขคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาเงินกองทุนในสภาพคาร์เรโชต่ำกว่าเกณฑ์กฏเหล็กคปภ.กำหนดได้สำเร็จลุล่วงลงหรือไม่