31 ต.ค.66 เวลา 20.30 น. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ถนนข้าวสาร เพื่อตรวจมาตรการความปลอดภัยของสถานบริการฯ ในเทศกาลฮาโลวีน ซึ่งบรรยากาศวันนี้เป็นไปด้วยความคึกคัก มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ 5,000 - 10,000 คน ร่วมงานฮาโลวีนถนนข้าวสาร เขตพระนคร อย่างหนาแน่น โดยผู้ประกอบการถนนข้าวสารมีการจัดของรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศในการประกวดการแต่งกายและขบวนพาเหรดในเทศกาลฮาโลวีน และร่วมกับสำนักงานเขตพระนคร และสน.ชนะสงคราม จัดมาตรการความปลอดภัยโดยมีการตรวจคัดกรองทางเข้าร่วมงานของนักท่องเที่ยวก่อนเข้าสู่ถนนข้าวสาร ซึ่งเมื่อเวลา 19.00 น. ที่ผ่านมา นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร และ พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ได้ลงพื้นที่ตรวจมาตรการความปลอดภัยด้วย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ปรับแผนการดำเนินการด้านความปลอดภัยจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมอิแทวอน นั่นก็คือ ต้องมีทางออกฉุกเฉิน การระบายอากาศที่เพียงพอจากความแออัดของฝูงชน การคัดกรองปริมาณจำนวนคนเข้าร่วมงาน รวมถึงการตรวจสอบพกพาอาวุธ โดยสิ่งที่ยังขาดคือเสียงตามสายไว้ประกาศแจ้งเตือนเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งในขณะนี้คงต้องใช้การประสานงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไปก่อน อีกเรื่องหนึ่งคือการเพิ่มศูนย์อำนวยการความปลอดภัย เพื่อประสานงานช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ อาทิ ตามหาคนหาย การพลัดหลง หรือสิ่งของสูญหาย ซึ่งต้องดำเนินการได้หลายภาษาเพื่ออำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย โดยถนนข้าวสารวันนี้ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการถนนข้าวสารในการเลิกกิจกรรมฮาโลวีนในเวลา 22:00 น ตรง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ระบายคนออกจากถนนข้าวสารเพื่อความปลอดภัย ซึ่งภาพรวมไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากไม่มีคนแออัดมากเท่าเทศกาลสงกรานต์หรือเทศกาลเคาท์ดาวน์ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีในการเตรียมความพร้อมและแก้ไขความบกพร่องเพื่อรองรับเทศกาลต่าง ๆ ที่กำลังมาถึงอาทิเทศกาลลอยกระทงอีกด้วย
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญสูงสุดกับมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งเมื่อเช้าที่ผ่านมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ประชุมสั่งการในเรื่องของมาตรการความปลอดภัยในเทศกาลฮาโลวีน สำหรับถนนข้าวสารในวันนี้มีเจ้าหน้าที่ 4 หน่วยงานหลักที่จะประสานงานในการดูแลมาตรการความปลอดภัย ประกอบด้วย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ชนะสงคราม และอปพร. ที่พร้อมอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัยในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของสถานบริการฯ ถนนข้าวสารอยู่บนดาดฟ้า เพื่อให้เห็นภาพรวมของความแออัดจากผู้ร่วมงานบริเวณถนนข้าวสารในมุมสูง เพื่อจะได้สื่อสารระหว่างกันในการระงับเหตุต่าง ๆ ได้ทันท่วงทีอีกด้วย
ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวว่า สำนักงานเขตพระนครได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจกว่า 50 นายร่วมดูแลความปลอดภัยถนนข้าวสาร โดยในเบื้องต้นมีการจัดจุดคัดกรองก่อนเข้าร่วมงานฮาโลวีนที่ถนนข้าวสารจะมีจุดตรวจความปลอดภัยในเรื่องของการพกพาอาวุธ พลุไฟ รวมถึงมีการตรวจนับจำนวน ปริมาณคนที่เข้าร่วมงาน เพื่อไม่ให้แออัดเกินไป ซึ่งจะส่งผลในเรื่องของมาตรการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการจัดจุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรถพยาบาล จำนวน 3 จุด พร้อมรถมอเตอร์แลนซ์อีก 2 คัน รวมถึงสน.ชนะสงครามได้ประสานกับโรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง จัดรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่บริเวณหน้าสน.ชนะสงครามอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการเตรียมรถดับเพลิงขนาดเล็กอยู่บริเวณโดยรอบถนนข้าวสาร เพื่อให้เข้าถึงที่เกิดเหตุได้ทันท่วงที
ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่จะมีการจัดงานในวันนี้ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานเขตพระนคร สน.ชนะสงคราม และผู้ประกอบการถนนข้าวสาร โดยได้นำเจ้าหน้าที่ของทางภาครัฐ และเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของสถานบริการฯ ถนนข้าวสาร มาซักซ้อมทำความเข้าใจในแผนปฏิบัติการเผชิญเหตุฉุกเฉิน โดยมีการกำหนดจุดที่จะพาผู้ประสบเหตุไปเข้ารับการรักษาพยาบาล และการกำหนดจุดปลอดภัยเพื่อลำเลียงคนเมื่อมีเหตุฉุกเฉินบริเวณถนนข้าวสาร จึงขอให้มั่นใจว่าเทศกาลฮาโลวีนในปีนี้มีความปลอดภัยอย่างสูงสุด
ด้านผู้กำกับการสน.ชนะสงคราม กล่าวว่า มั่นใจว่าการจัดงานฮาโลวีนถนนข้าวสารในค่ำคืนนี้จะมีความปลอดภัย ซึ่งทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงครามจัดกำลังเจ้าหน้าที่ 136 นาย โดยได้แบ่งกำลังเจ้าหน้าที่เป็น 2 ชั้น ชั้นในซึ่งเป็นจุดสำคัญซึ่งมีนักท่องเที่ยวหนาแน่น สน.ชนะสงคราม ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจกองร้อยน้ำหวาน และตำรวจอส. กว่า 88 นาย อยู่ร่วมกับประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลความปลอดภัยและรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงชั้นนอกก็จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้ใช้โศกนาฏกรรมฮาโลวีนอิแทวอน นำมาถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโดยจัดทางออกฉุกเฉินเป็น 8 ช่องทาง สื่อสารด้วย 3 ภาษา คือ ภาษาไทย อังกฤษ และจีน เพื่อระบายคนออกจากถนนข้าวสารอย่างรวดเร็วอีกด้วย