เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้ร่วมกันจับกุม ผู้ต้องหารวม 26 คน ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มผู้ต้องหาที่ทำหน้าที่รับจ้างเปิดบริษัทให้กับนายทุนชาวจีน ผู้ต้องหากลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก ผู้ต้องหาที่ทำหน้าที่แชทหลอกลวงผู้เสียหาย และผู้ต้องหาที่ทำหน้าที่เปิดบัญชีรับโอนเงิน (บัญชีม้า) ได้แก่ น.ส.อ้าย เสี่ยหลิว (Ms.Aixia Liu) อายุ 48 ปี สัญชาติ จีน นายหลง หัวเปียว (Mr.Long Huabiao) อายุ 38 ปี สัญชาติ จีน และน.ส.สกุณา จันทร์สุข อายุ 44 ปี ร่วมกระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน”
พร้อมกลุ่มขบวนการ ซึ่งทำหน้าที่สร้างเพจเฟซบุ๊กปลอม แบ่งกลุ่มหลอกลวงประชาชน ได้แก่ กลุ่มทำการโฆษณา กลุ่มชักชวนเหยื่อลงทุน กลุ่มหลอกลวงเหยื่อ และกลุ่มทำหน้าที่ยักย้ายถ่ายเทเงินในบัญชีผ่านบัญชีม้า อีก จำนวน 23 คน โดยยึดของกลาง มูลค่ารวมกว่า 30 ล้านบาท ได้แก่ เงินสดใน Bitkub 28 ล้านบาท สมุดบัญชี 23 เล่ม โทรศัพท์ 21 เครื่อง ซิมการ์ด 19 ซิม คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คและแทบเล็ต 3 เครื่อง เงินสด 100,000 บาท กล้องวงจรปิด และเอกสารอื่น ๆ อีก 20 รายการ โดย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้นำตัวผู้ต้องหาและพยานหลักฐานต่าง ๆ นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี และยังมีทรัพย์สินอื่นที่อยู่ระหว่างการขยายผลเพิ่ม ยึดอายัดเพิ่มเติม
พฤติการณ์ มีผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ กรณีถูกหลอกให้ร่วมลงทุนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย บก.ปอศ. จึงได้ทำการสืบสวนขยายผล จนทราบว่าคนร้ายมีพฤติการณ์สร้างกลอุบายเพื่อหลอกลวงเหยื่อผ่านเพจเฟซบุ๊กปลอม โดยมีการอ้างเป็น เพจเฟซบุ๊กของ “ร้านทองออโรร่า” เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทั้งยังใช้โลโก้หรือเอกสารปลอมของร้านทองดังกล่าว ประกอบกับมีการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมาก ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย ก่อนจะมีการชักชวนให้ลงทุนในการเทรดหุ้น ซึ่งมีการแบ่งเป็นแพ็คเกจต่างๆ โดยมีการการันตีระยะเวลาในการลงทุนแต่ละครั้งว่า ลงทุนเพียง 5 - 20 นาทีก็จะได้ผลกำไรสูงถึง 20 - 30 % และเมื่อเหยื่อหลงเชื่อ ตัดสินใจร่วมลงทุน ในช่วงแรกนั้น เหยื่อจะได้กำไรจริง และสามารถถอนเงินออกมาได้ปกติ ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยบางรายมีการลงทุนสูงถึง 3.2 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าจะได้กำไรในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเหยื่อมีการลงทุนเงินจำนวนที่สูงขึ้น กลับไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ โดยกลุ่มคนร้ายได้ทำการสร้างเงื่อนไขไว้ หากต้องการถอนเงินที่ได้ลงทุนต้องชำระค่าแนะนำให้การเทรด หรือ ค่าภาษี จากกรณีดังกล่าวทำให้มีประชาชนหลงเชื่อและร่วมลงทุนเทรดหุ้น(ปลอม) จำนวนมาก เกิดเป็นความเสียหายเบื้องต้นเกือบ 4 ล้านบาท (เฉพาะที่มาแจ้งที่ บก.ปอศ) เชื่อว่ายังมีผู้เสียหายอื่นอีกจำนวนมากเนื่องจาก พบมีเงินโอนเข้าบัญชีม้าจำนวนมากและมีเงินหมุนเวียนกว่า 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่า เงินที่ได้จากการหลอกลวงบางส่วน มีการนำไปแปลงเป็นทรัพย์สิน แปลงเป็นสินค้าเพื่อส่งออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน และแปลงเป็นสกุลเงินดิจิทัล (CRYPTO CURRENCY) อีกด้วย เบื้องต้นพบเงินหมุนเวียนในบัญชีขบวนการนี้ อีกกว่า 1,200 ล้านบาท
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงรวบรวมพยานหลักฐาน และขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 50 ราย และนำไปสู่การปฏิบัติการ CIB Anti - Online Scam : ขุดรากถอนโคนแก๊งปลอมเพจ หลอกชวนเทรดหุ้น
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เตือนภัย ประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์และมีความสนใจที่จะลงทุน โปรดระมัดระวังการเข้าไปคลิ๊กหรือให้ข้อมูลส่วนตัวแก่บุคคลที่ไม่รู้จักหรือเพจที่ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อไม่ให้ตัวท่านตกเป็นเหยื่อของขบวนการหลอกให้ลงทุน เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง โดยเฉพาะการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น โปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ]’ทุนจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) ที่ https://market.sec.or.th/LicenseCheck/Search หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SEC Check First ทั้งในระบบ iOS และ Android
ทั้งนี้ หากท่านมีเบาะแสในเรื่องการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่น่าเชื่อได้ว่ามีความผิดปกติ สามารถแจ้งเบาะแสหรือหากถูกมิจฉาชีพหลอกลวงสามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือแจ้งเบาะแสมายังตำรวจสอบสวนกลาง (CIB)