รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล เรื่องการทูตสมัยพระนารายณ์ ระหว่างฝรั่งเศสกับสยามนั้นมีหลักฐานบันทึกหลายชิ้น ชิ้นล่าสุดที่เพิ่งค้นพบเมื่อราวสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นบันทึกรายวันของออกพระวิสุทธสุนทร หรือ โกษาปานขณะอยู่ที่ฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1686 ผมยังไม่มีโอกาสอ่านบันทึกทั้งหมด (ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของฉบับเต็มที่สูญหายไปหลายร้อยหน้า) แต่ทราบข้อมูลคร่าวๆ ว่าโกษาปานมีความสนใจต่อดนตรีตะวันตกเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการไปชมการแสดงดนตรีหลายครั้ง ได้พบกับนักแต่งเพลงคนสำคัญแห่งราชสำนักฝรั่งเศส คือ ฌอง แบบติสต์ ลุลลี และมีการสนทนากับนักดนตรีในหลายๆ โอกาส โดยเฉพาะกรณีของลุลลีนั้น ท่านทูตคือโกษาปานได้ไปชมโอเปราและการแสดงคอนเสิร์ตของลุลลีอยู่หลายครั้งทีเดียว นอกจากนั้นท่านทูตยังให้ความสนใจกับดนตรีทหาร ทั้งการเป่าแตรและตีกลอง ถึงกับสอบถามและให้นักดนตรีฝรั่งเศสสาธิตให้ดูอย่างละเอียดหลายครั้ง และโกษาปานยังบันทึกถึงบุคลิกอย่างหนึ่งที่สำคัญของดนตรีพิธีกรรมตะวันตก นั่นคือ ท่านสังเกตเห็นว่าในการประโคมดนตรีรับกษัตริย์กับรับเจ้านายคนอื่นนั้นมีความแตกต่างกัน และดนตรีที่ใช้จะเปลี่ยนแปลงไปตามฐานานุศักดิ์ของผู้รับประโคม โกษาปานเดินทางไปยังฝรั่งเศสพร้อมกับทูตฝรั่งเศสชุดของ เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ที่มาถึงอยุธยาในปีก่อนหน้า เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม น่าสนใจว่าในบันทึกของโชมองต์ เขาบันทึกว่าเมื่อเดินทางเข้าไปยังพระราชวังในอยุธยา ขบวนของเขาได้รับการต้อนรับด้วยเสียงประโคมจากทรัมเป็ต (แตรฝรั่ง) กลอง และเครื่องดนตรีอื่นๆ จำนวนหนึ่ง ขณะเดินผ่านผู้คนจำนวนมากไปตามทางสายใหญ่ ดังนั้น เมื่อโกษาปานไปเยือนฝรั่งเศสพร้อมกับเขาในคราวนี้ โชมองต์จึงจัดแจงให้ทางการฝรั่งเศสต้อนรับแขกเมืองในลักษณาการเดียวกับที่เขาได้รับการต้อนรับในสยาม นั่นคือ มีการบรรเลงดนตรีด้วยทรัมเป็ตและกลองจำนวนมาก ขณะขบวนของโกษาปานเคลื่อนที่ไปยังพระราชวังแวร์ซาย พร้อมการยกย่องพระราชสาส์นจากพระนารายณ์ไว้บนเบื้องสูง (แต่แน่นอนว่านักดนตรีฝรั่งเศสคงไม่สามารถบรรเลงเพลงเดียวกับนักดนตรีสยาม และคงเลือกใช้เพลงใดเพลงหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมในฝรั่งเศสในการบรรเลงครั้งนั้น) R. S. Love ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังถึงกับวิเคราะห์ว่า การต้อนรับทูตของสยามอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรัชสมัยอันยาวนานของพระเจ้าหลุยส์ 14 และจุดประสงค์ที่ทางฝรั่งเศสต้องทำเช่นนี้ ก็เพราะต้องการนำเสนอภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ยิ่งใหญ่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากก็คือ การเลือกเจาะจงต้อนรับราชทูตสยามที่โถงกระจกเงา (Hall of Mirrors) ทั้งที่ถ้าเป็นทูตจากประเทศอื่นทั่วๆ ไป จะต้องได้รับการต้อนรับที่ Apollo Salon ซึ่งเล็กกว่า และจุดประสงค์ในการต้อนรับในโถงที่ใหญ่โต ก็เพื่อแสดงให้ราชทูตสยามเห็นจำนวนผู้คนฝรั่งเศสที่เฝ้าแหนอยู่อย่างเนืองแน่น ไม่ต่างไปจากสภาพการเข้าเฝ้าพระนารายณ์ของทูตฝรั่งเศสในปีก่อนหน้านั้นนั่นเอง (ในบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ดที่เข้าเฝ้าพระนารายณ์พร้อมเดอ โชมองต์ในครั้งนั้น เล่าไว้ว่า พวกเขาต้องเดินผ่านทหารสยามเป็นจำนวนหลายพันคนก่อนจะเข้าถึงราชฐานชั้นในเพื่อพบกับพระเจ้าแผ่นดิน) ในโถงใหญ่ของพระเจ้าหลุยส์ 14 ครั้งนั้น ยังใช้เครื่องดนตรีจำนวนมากประโคมประกอบการเข้าเฝ้าเพื่อถวายราชสาส์นของราชทูตไทย โดยใช้ทรัมเป็ตจำนวน 24 คัน และกลองถึง 36 ใบ นอกจากนั้น ในพิธีการต้อนรับ ยังมีนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งแต่งเพลงขึ้นเป็นพิเศษเพื่อการนี้โดยเฉพาะ นั่นคือนายมิเชล ริชาร์ด เดอลาลองด์ ที่แต่งเพลงขึ้นสองเพลง และสันนิษฐานว่าน่าจะใช้บรรเลงในงานเลี้ยงต้อนรับคณะทูต คือ 1) เพลง Entree des Siamois 2) เพลง Air des Siamlois หมายเลขสอง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ชื่อเพลงทั้งสองจะมีคำว่าสยาม แต่เราก็ไม่ควรเข้าใจว่าทั้งสองเพลงจะเป็นเพลงสยาม หรือมีบุคลิกแบบเพลงสยามจริงๆ เพราะนั่นย่อมเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากขณะนั้นเดอลาลองด์ยังไม่เคยดนตรีได้ยินดนตรีสยามอย่างแท้จริงมาก่อนแม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต และน่าเชื่อว่าเขาคงไม่มีโอกาสได้ยินจนตราบสิ้นชีวิต ดังนั้น เพลงทั้งสองเพลงจึงเป็นเพียงงานดนตรีแบบ “exotic” ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความเป็นสยาม แต่แค่เน้นเสียงเพลงที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนดนตรีฝรั่งทั่วๆ ไป (แต่แท้ที่จริงแล้วก็ไม่ได้ฉีกแนวออกมาอย่างมากมายอะไรนัก) หลักฐานที่เห็นได้ชัดคือ การที่เดอลาลองด์เองก็ไม่เคยตีตรางานสองชิ้นนี้ว่าเป็น “ดนตรีสยาม” อย่างแท้จริง และในช่วงหลายปีถัดจากนั้น เขายังนำงานสองชิ้นนี้ไปบรรจุไว้ในโอเปร่าเรื่องอื่น ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศจีน! นั่นคือ สำหรับเดอลาลองด์แล้ว ความ exotic นั้นก็คือความ exotic ไม่ว่าจะหมายถึงสยามหรือหมายถึงจีน ย่อมไม่แตกต่างกัน (ทั้งหมดนี้เขียนโดยสรุปความบางส่วนจากบทความ Lully in Siam: music and diplomacy in French–Siamese cultural exchanges, 1680–1690 ของ David R. M. Irving ตีพิมพ์ใน Early Music, Vol. xl, No. 3 ค.ศ. 2012) ภาพพิมพ์ในปี ค.ศ. 1687 แสดงภาพขบวนราชทูตไทยในฝรั่งเศส ได้รับการประโคมนำด้วยทรัมเป๊ตและกลองหลายใบ (สังเกตกลองที่ขอบภาพด้านขวาบน)