ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.66 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ปีงบประมาณ 2567 ว่า เราประกาศเรื่องยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสู้เพื่อคืนลูกหลานเยาวชน คืนโอกาสให้ประชาชน และสร้างโอกาสประเทศในการขับเคลื่อนผลิตภาพมนุษย์วัยแรงงาน ทั้งนี้ มั่นใจว่านโยบายควิกวินเรื่องยาเสพติดจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ใน 100 วัน กิจกรรมที่ดำเนินการ คือ 1.มีมินิธัญญารักษ์ ครอบคลุมทุกจังหวัด เป้นสถานที่บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 2.มีหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดทุกจังหวัด และ 3.มีกลุ่มงานด้านจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ เพื่อรองรับเป็นโครงสร้างการทำงาน เราจะประกาศให้ครบทุกพื้นที่ โดยในมุมของ สธ.มีบทบาทสำคัญภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ที่ออกมา คือ การบำบัดรักษาและฟื้นฟู โดยใช้กลไกทั้งสถานบริการเน้นหนักด้านการแพทย์ อีกส่วนคือ ชุมชนบำบัด เน้นหนักด้านพฤติกรรม ซึ่งจะต้องผสมผสานบูรณาการหลายภาคส่วน
นพ.ชลน่านกล่าวว่า นิยามตามกฎหมายผู้เสพคือผู้ป่วย ซึ่งคาดการณ์ว่า มีประมาณ 1.5 ล้านรายที่เป็นผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ที่ติดแล้ว โดยผู้ใช้คือผู้เสพที่ไม่มีอาการ ใช้บางครั้งบางคราว ผู้เสพคือมีอาการต้องใช้ยามากขึ้น และผู้ติดแล้วมีอาการติดยาอย่างชัดเจน ทั้ง 3 กลุ่มคือผู้เสพที่เราต้องดูแล ส่วนจะเข้าการบำบัดรักษาอย่างไรก็แบ่งกลุ่ม ผู้ใช้จะเป็นชุมชนบำบัด ผู้เสพและผู้ติดจะเป็นหน้าที่ของมินิธัญญารักษ์และหอผู้ป่วยจิตเวช อย่างไรก็ตามในมุมกระทรวงสาธารณสุขไม่ว่าจะถือกี่เม็ดก็คือผู้เสพที่ต้องเข้ารับการบำบัด แต่ในมุมของผู้บังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามนั้น คณะกรรมการของเราร่วมกับ ป.ป.ส.พิจารณา สรุปอยู่ที่ 10 เม็ด ซึ่งมีเหตุผลรองรับ เราใช้ทุกมิติ ทั้งการแพทย์ ฤทธิ์ของยาที่เกิดผลต่อผู้เสพ มิติด้านเศรษฐกิจ อยู่ระหว่างดำเนินการประกาศกฎกระทรวง ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้ภายในปลายเดือนนี้หรือเดือน ธ.ค.
“ผมเรียน รมว.ยุติธรรม ว่าแม้จะ 1 เม็ด แต่มีพฤติกรรมขายก็ต้องเป็นผู้ค้า นั่นเป็นหน้าที่ของท่าน แต่ในมุม สธ.ไม่ว่ากี่เม็ดเราก็ดูแลหมด แม้เราจะเป็นผู้ประกาศกฎกระทรวง แต่ไม่ว่ากี่เม็ด จะ 1 เม็ด 2 เม็ด 11 12 หรือ 13 เม็ดก็เป็นหน้าที่เราต้องบำบัดรักษา” นพ.ชลน่านกล่าว
ทั้งนี้ ตนขอฝากให้ทางสาธารณสุขของเราเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีหลายระดับ ชิงนำการทำงานให้ได้แต่ไม่ใช่แย่งกันทำงาน เราสามารถนำเขาได้ จริงอยู่ว่าในเชิงโครงสร้างกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นแกนนำในงานนี้ แต่ด้วยความเคารพ เมื่อตนดูแผนงานของเขาแล้ว พบว่าเขาจะต้องใช้งบฯ เป็นตัวตั้ง ถ้าไม่มีเงิน เขาบอกเขาทำไม่ได้ ขณะที่พวกเราทำงานในพื้นที่ไม่เคยเอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่ใช้กลุ่มเป้าหมาย ใช้สภาวะที่เราปฏิเสธไม่ได้คือการมีผู้ป่วย ดังนั้นต้องใช้จุดเด่นของเรา เพราะต่อไปจะต้องทำงานผสมผสานกันในหลายภาคส่วน เราต้องยอมรับว่ายาเสพติดเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เป็นซ้ำได้ ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจการดูแล ก็จะป้องกันการเป็นซ้ำได้มากขึ้น แต่ถ้าบอกว่าหมอต้องรักษาหาย แต่พอกลับมาเป็นบ้าอีก ก็โทษหมอ ไม่โทษตัวเอง ชุมชนหรือครอบครัว เพราะสิ่งที่จะป้องกันการเป็นซ้ำมากที่สุดคือการทำอย่างไรไม่ให้เขากลับไปเสพ ซึ่งนั่นไม่ใช่หน้าที่ สธ.โดยตรงแต่เราไม่ปฏิเสธหน้าที่ เพราะเราก็มีส่วนร่วมในการเป็นชุมชนป้องกันเรื่องยาเสพติดด้วย
#ยาบ้า #สาธารณสุข #ผู้เสพ