วันที่ 30 ต.ค.ที่โรงแรมเซ็นเตอร์พอยท์ เทอร์มินอล 21 โคราช สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมสต็อคโฮล์มภาคพื้นเอเชีย (Stockholm Environment Institute,SEI) และภาคีความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Mekong-Lancang Cooperation,LMC) โดยนายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายตง หยานเฟย รองเลขาธิการ LMC Water Center นายไนออล โอคอนเนอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ SEI-Asia Center ร่วมจัดการประชุมระดับภูมิภาคครั้งที่ 1 การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมน้ำอัจฉริยะด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อทรัพยากรน้ำและการผลิตข้าวที่ยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง โดยมีผู้กำหนดนโยบาย ผู้แทนภาครัฐ สถาบันการศึกษา นักวิจัย เกษตรกรและภาคประชาสังคมในเขตภูมิภาคล้านช้าง-แม่น้ำโขง ประกอบด้วยประเทศไทย จีน สปป.ลาว กัมพูชา พม่าและเวียดนาม ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การส่งเสริมและขยายขนาดเทคโนโลยีในระดับฟาร์มและความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน
ดร.ธนพล พิมาน นักวิจัยพันธมิตร SEI เปิดเผยว่า เครือข่ายเกษตรอัจฉริยะได้ความร่วมมือและสนับสนุนจากกรมชลประทาน กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน โดยนำองค์ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมน้ำและเกษตรกรอัจฉริยะมาต่อยอดบริหารจัดการในแปลงนาสาธิต เช่นการเตือนภัย วัดอุณหภูมิ ความชื้น ติดตามการใช้น้ำ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุโลกร้อน การเฝ้าระวังความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมทั้งการตลาด ชาวนาสามารถเข้าถึงง่ายและนำมาปรับใช้ในแปลงนาให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ ตอบโจทย์การใช้จริงเกิดประโยชน์อะไรบ้างในความเป็น กำหนดพื้นที่นำร่องลุ่มน้ำลำตะคองตอนล่างและพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นการทำนาน้ำฝนประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งเป็นประจำ ขณะนี้เป็นขั้นตอนเตรียมการอยู่ระหว่างการนำไปใช้จริง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด