ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง พสกนิกรทั่วทุกสารทิศยังคงหลั่งไหลมาถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวงรัชกาลที่9” เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางด้านตะวันตกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี บำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ และใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี มาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคต และกลายเป็นธรรมเนียมรัชกาลสืบต่อๆ มาเมื่อมีการสวรรคต ตั้งพระบรมศพพระบรมโกศในพระที่นั่งฯ และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ กล่าวถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในมุมศิลปกรรม ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ได้บรรยายเรื่อง “สังเขปศิลปะรัตนโกสินทร์ : พระบรมมหาราชวัง” ไว้ในหนังสือสัมมนาวิชาการ “ศิลปกรรมล้ำค่าสมัยรัตนโกสินทร์” สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2549 ดังนี้ ใน พ.ศ. 2326 รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างพระที่นั่งหมู่นี้ทางด้านทิศตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง มีพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทเป็นประธานสูงใหญ่เท่าพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทในพระราชวังหลวงครั้งกรุงเก่า แต่พระที่นั่งที่โปรดให้สร้างนั้นถูกไฟไหม้ จึงได้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทน (ทิพากรวงศ์ 2526 : 118) พระมหาปราสาทองค์ที่สร้างใหม่ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ได้แบบอย่างจากพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ซึ่งเป็นพระมหาปราสาทที่กรุงเก่าอีกองค์หนึ่ง ขนาดย่อมกว่าพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท งานสร้างครั้งใหม่ รัชกาลที่ 1 ไม่โปรดให้มีแถวบราลีประดับสันหลังคา (นิยมในสมัยกรุงศรีอยุธยา) และทวยที่รับส่วนล่างของยอดโปรดให้เปลี่ยนไปใช่รูปครุฑยุดนาคแทน (อ้างแล้ว) รัชกาลที่ 1 เสด็จออกว่าราชการ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อสวรรคตจึงได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน จนกลายเป็นธรรมเนียมประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราช และพระบรมวงศ์ชั้นสูงบางพระองค์ (แน่งน้อย (1) 2531 : 25) พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งมีแผนผังทำนองจัตุรมุข คือมีมุขทั้ง 4 ทิศ มุขด้านเหนือเป็นมุขเด็จ (เข้า ใจว่า กร่อนจากคำว่า “มุขเสด็จ”) มุขเด็จเป็นมุขโถงประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลา หลังคาทรงจั่วของพระมหาปราสาทองค์นี้ซ้อนลดหลั่น 4 ชั้น (หรือที่เรียกว่า “หลังคาชั้นลด”) แต่ละชั้นมุงกระเบื้องเคลือบสี โดยมีพื้นสีเขียวขอบสีส้ม ป้านลมของทุกชั้นหลังคาประดับกรอบหน้าบรรพ (หรือเขียนอีกอย่างว่า กรอบหน้าบัน) อันมีช่อฟ้า ใบระกา และนาคเบือนแทนหางหงส์ ส่วนล่างของยอดพระมหาปราสาทประดับด้วยรูปครุฑยุดนาค ทั้ง 4 มุม ยอดพระมหาปรา สาทซึ่งตั้งอยู่เหนือหลังคาชั้นซ้อนคือที่มาของชื่อที่เรียกว่า “ปราสาทยอด” อีกชื่อหนึ่งด้วย นาคเบือนที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว คงทำกันในระยะปลายก่อนจะเลิกนิยมหลังจากรัชกาลที่ 1 (ยกเว้นกรณีที่สมัยหลังย้อนกลับไปเลือกทำเป็นครั้งคราว) แบบอย่างของนาคเบือนในสมัยแรกเริ่มของกรุงเทพฯ ย่อมสืบทอดจากสมัยกรุงเก่า โดยได้แรงบันดาลใจจากนาคห้าเศียรที่ประดับปลายกรอบหน้าบรรพมาก่อน เพราะมีเค้าเงื่อนที่งานประดับปลายกรอบหน้าบรรพของเจดีย์ทรงปรางค์ของสมัยนั้น (อย่างเก่าไปถึงสมัยตอนต้นของสมัยกรุงเก่า ได้แก่ปรางค์วัดส้ม จ.พระนครศรีอยุธยา หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย มีตัวอย่างที่ จ.พิษณุโลก ได้แก่ปรางค์วัดจุฬามณี) อย่างไรก็ตาม งานประดับซึ่งอยู่ที่ตำแหน่งเดียวกัน แต่เรียกว่า หางหงส์ ก็สืบทอดมาจากสมัยกรุงเก่าเช่นกัน โดยที่ยังทำสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อนึ่ง การที่ยังปรากฏนาคเบือนประดับลายกรอบหน้าบรรพของพระมหาปราสาทองค์นี้ ทั้งที่ผ่านงานบูรณะแต่ละครั้งที่ผ่านมา คงคำนึงถึงการรักษาแบบอย่างเมื่อแรกสร้าง งานบูรณะในรัชกาลที่ 6 เป็นครั้งสำคัญในด้านโครงสร้าง คือเสาลอยตั้งอยู่กลางมุขทั้ง 4 ด้านของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทถูกตัดออก และเปลี่ยนโครงสร้างปรับยอดปราสาทเป็นโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก ต่อมาโปรดให้สร้างสะพานทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเชื่อมมุข ระหว่างด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทกับพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท (แน่งน้อย (1) 2531 : 22) พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ศิลปกรรมล้ำค่ารัตนโกสินทร์