วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ.2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

 

นายวิรัตน์ ได้กล่าวในระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานสภาแจ้งต่อที่ประชุม เรื่อง รายงานการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 งบกลาง ว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ส่งหนังสือรายงานการโอนงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2566 งบกลาง ตามที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครทราบ ซึ่งเป็นไปตามข้อบัญญัติวิธีการงบประมาณที่มีการแก้ไขในปี 2563 ระบุว่า เมื่อสิ้นปีงบประมาณ (30ก.ย.66) ภายใน 30 วัน ผู้ว่าฯกทม.ต้องรายงานการใช้งบกลางต่อสภากทม. จึงเป็นเหตุที่ต้องเรียกประชุมสภากทม.ในวันนี้

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เข้าใจว่าต้องรายงานการใช้งบกลางภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ แต่อาจติดเรื่องวันหยุด ในปีหน้าจะรายงานให้เร็วกว่านี้ เพื่อให้สภากทม.มีโอกาสพิจารณาบรรจุเป็นวาระ ทั้งนี้ ไม่แน่ใจว่าการตีความกฎหมาย ระบุให้ต้องแจ้งต่อสภากทม.รับทราบภายใน 30 วันด้วยหรือไม่ เช่น ปี 2564 ผู้ว่าฯกทม.คนก่อนหน้า มีการรายงานงบกลางวันที่ 29 ต.ค. และสภากทม.รับทราบวันที่ 3 พ.ย. อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับให้เร็วขึ้นต่อไป

 

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ตั้งคำถามต่อประธานสภากทม. ว่า รายงานการโอนงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2566 งบกลาง ดังกล่าว จำนวน 14,162,196,831 บาท มีความเร่งด่วนเพราะเหตุใด

 

นายวิรัตน์ ให้เหตุผลว่า หลังจากได้รับจดหมายจากผู้ว่าฯกทม. เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นไปตามข้อบัญญัติงบประมาณข้อ 42 ย่อหน้าที่ 3 ระบุว่า การโอนรายจ่ายงบกลางรายการใดรายการหนึ่งไปเพิ่มรายการอื่นในงบกลางด้วยกัน ให้ผู้ว่าฯกทม. รายงานให้สภากทม.ทราบภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณนั้น

 

นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไท กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการแก้ข้อบัญญัติเมื่อ ปี 2563 อาจจะต้องการทราบการใช้งบประมาณของฝ่ายบริหาร กทม. เดิมทีไม่มีการรายงานลักษณะนี้ เมื่อมีการแก้ไขแล้ว ต่อมาปี 2564 ฝ่ายบริหาร กทม.อาจส่งเรื่องเข้าสภากทม.ไม่ทัน ประกอบกับสมัยประชุมสภากทม.ปิดวันที่ 30 ต.ค. จึงมีการขยายสมัยประชุมออกไป 15 วัน และมีการประชุมวันที่ 3 พ.ย.2564 ซึ่งอยู่ในกำหนดเวลา แต่ครั้งนี้สมัยประชุมสภากทม.กำหนดปิดวันที่ 30 ก.ย.66 หากรอให้เปิดสภากทม.อีกครั้งเดือน ม.ค.67 จึงไม่ทันเวลา จึงมีการเรียกประชุมด่วนเพื่อให้ทันเวลาภายใน 30 วัน นับจากปิดสมัยประชุมวันที่ 30 ก.ย. หากมีการขยายเวลาในการรายงานการใช้งบกลางให้ผู้ว่าฯกทม.ก็จะไม่เกิดปัญหาลักษณะนี้ และไม่เสียหายอะไร เพราะเวลาที่ให้ฝ่ายบริหารกทม.มีน้อยเกินไป เนื่องจากต้องเตรียมเอกสารและเตรียมการหลายอย่างเพื่อรายงานต่อสภากทม.

 

ทั้งนี้ มีการอภิปรายเป็นวงกว้างของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ถึงการเรียกประชุมเร่งด่วนในครั้งนี้ ทั้งที่ปิดสมัยการประชุมสภากทม.ไปแล้ว เช่น นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง แนะให้แก้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง วิธีการงบประมาณ 2563 ข้อ 42 จากการรายงานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ เป็นนับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าฯกทม.ลงนาม เพื่อเลี่ยงการตีความที่ไม่ตรงกัน และไม่ต้องประชุมเร่งด่วนนอกรอบ นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา กล่าวว่า สมาชิกสภากรุงเทพมหานครทุกคนยินดีมาร่วมประชุมเร่งด่วนนอกรอบ แต่ประเด็นคือ ฝ่ายบริหารกทม.รู้อยู่แล้วว่ามีรายจ่ายส่วนใดบ้าง และรู้ว่าต้องทำอะไรบ้างในระยะเวลากำหนด เหตุใดไม่จัดการล่วงหน้า เพื่อไม่ต้องมาแจ้งประชุมด่วนในวันสุดท้ายของกำหนดเวลา(วันนี้30ต.ค.66) และเห็นด้วยให้แก้ไขข้อบัญญัติ ปี 2563 ข้อ 42 ให้เหมาะสม

 

นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า ควรแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวให้ชัดเจน ว่า ผู้ว่าฯกทม.ต้องส่งเรื่องให้ประธานสภากรุงเทพมหานครภายในกี่วัน และ ประธานสภากรุงเทพมหานครต้องส่งเรื่องให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครพิจารณาภายในกี่วัน เพื่อป้องกันการตีความทางกฎหมาย เช่น ส่งเรื่องให้สภากทม.พิจารณาภายใน 30 วัน หมายถึง สมาชิกสภากทม.ทั้งหมด ไม่ใช่ส่งเรื่องให้ประธานสภากทม.คนเดียว เพราะต้องให้เวลาสมาชิกสภากทม.พิจารณาด้วย อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ ผู้ว่าฯกทม.ก็ยังเสนอเรื่องรายงานงบกลางภายในเวลากำหนดแม้จะเป็นวันสุดท้าย

 

ด้านนายชัชชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า จะนำข้อแนะนำไปปรับปรุงให้มีการรายงานการใช้งบกลางต่อสภากทม.เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งครั้งนี้อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการตีความของฝ่ายกฎหมาย