"อนุฯประชามติแก้รธน." ฟังความคิดเห็น กมธ.พัฒนาการเมือง สว. ด้าน "เสรี" ยันติดตามมาตลอดเชื่อหาข้อยุติได้ ขณะที่ "นิกร" แจงเตรียมเดินสายฟังความคิดเห็นกลุ่มต่างๆ 2 พ.ย.พบ "กมธ.พัฒนาการเมืองสภาฯ" 14 พ.ย.หารือ "ก้าวไกล" ธ.ค.สรุปทั้งหมดเสนอรัฐบาล

       
วันที่ 30 ต.ค.2566 เวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิ(กมธ.)การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.เป็นประธาน ร่วมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มีนายนิกร จำนง เป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 2 ฝ่ายอย่างพร้อมเพรียง
          
โดยเมื่อเริ่มการประชุม นายเสรี กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการทำประชามติว่าควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นสำคัญ เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาที่จะแก้ไข ต้องมีจุดเริ่มต้น อย่างไรก็ตามการจะทำเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความเห็นที่แตกต่างเป็นความเห็นที่จะต้องหาข้อยุติเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งคนที่มาทำเรื่องเหล่านี้ต้องเป็นที่ยอมรับ เป็นที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ดังนั้นเมื่อนายนิกร และคณะที่ทำหน้าที่นี้ ตนเชื่อว่ามีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับก็จะสามารถทำให้กระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติสามารถเดินหน้าลุล่วงไปได้ แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้นก็อยู่ที่สิ่วที่จะดำเนินการต่อไป ซึ่งคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯก็ได้ติดตามเรื่องนี้มาตลอด และได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยมีนายวันชัย สอนสิริ ส.ว. เป็นประธานอนุทำงานติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
         
"ดังนั้นในการที่นายนิกร และคณะมาร่วมหารือ ก็ต้องขอบคุณที่ให้เกียรติมารับฟังความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งจะมีทิศทางการดำเนินการอย่างไรนั้นก็อยากให้นายนิกร และครชณะ เสนอแนวคิดและแนวทางว่าเราจะร่วมมือกันอย่างไร ในการที่จะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้"นายเสรี กล่าว

ขณะที่ นายนิกร กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกและถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ซึ่งคณะอนุฯดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการทำประชามติไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจึงต้องมาฟังความคิดเห็นจากวุฒิสภา ดังนั้นขอเรียนว่าเราฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และใช้เวลาค่อนข้างสั้น ซึ่งสิ่งที่อยากต้องการจากท่านทั้งหลาย คือแบบสอบถามว่าควรจะถามท่านอย่างไรดี และให้ท่านร่วมตั้งคำถามกับเราด้วย เพราะของวุฒิสภาต้องถามเป็นการเฉพาะเพราะไม่เหมือนของประชาชน อย่างไรก็ตามทางคณะอนุฯต้องรอให้สภาฯเปิดสมัยประชุมก่อน เพื่อรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด โดยทางอนุตั้งใจว่าจะให้มีการระบุชื่อผู้ที่ตั้งคำถามว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือสมาชิกบางท่านอาจจะไม่เปิดเผยชื่อก็ได้ ต่อจากนั้น วันที่ 2 พ.ย.ทางคณะอนุฯจะไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพริษฐ์ วัชระสินธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) หลังจากนั้นจะสอบถามกับ ส.ส.ทั้งหมดทั้ง 500 คน เพื่อความเห็นในเรื่องนี้
       
นายนิกร กล่าวต่อว่า จากนั้นในวันที่ 8 พ.ย. จะพูดคุยกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนักเรียน นักศึกษาที่มีอายุเกิน 18 ปี เพราะรัฐธรรมนูญจะใช้กับรุ่นเขามากก่ารุ่นเรา จากนั้นในวันที่14 พ.ย.จะต้องพูดคุยกับพรรคการเมืองที่เห็นต่างคือพรรคก้าวไกล ที่แก้ไขรธน.โดยไม่แยกหมวด 1 หมวด 2 ขณะที่ในส่วนของรัฐบาลไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 โดยตนได้คุยกับนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะไปคุยที่พรรคก้าวไกล จากนั้นวันที่ 15 พ.ย. ทางคณะอนุฯได้เชิญกลุ่มประชาชนจำนวน 14-15 กลุ่ม ประมาณ 80 คน ซึ่งมีทั้งกลุ่มไอลอว์ กลุ่มคนพิการ เป็นต้น โดยหารือกันที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.ว่าการกระทรวงพานิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษาทำประชามติ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ คำถามที่จะถามต่อประชาชนคือ อยากให้แก้หรือไม่ รวมถึงให้เสนอประเด็นต่างๆได้ เพราะทางคณะอนุกรรมการไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำการแก้ไขรธน.ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือไม่ เราไม่มีหน้าที่แต่เป็นเรื่องของสภาร่างรัฐธณรมนูญ (ส.ส.ร.)หากมีการตั้งขึ้นก็จะเป็นผู้ดำเนินการ
         
จากนั้น นายนิกร กล่าวต่อว่า ทางคณะอนุฯจะออกต่างจังหวัดเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนกลุ่มต่างๆทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อสรุปเสนอไปยังรัฐบาลในต้นปีหน้า จากนั้นรัฐบาลก็จะนำไปกำหนดเป็นคำถาม อย่างไรก็ตามในส่วนของการทำประชามติยังมีปัญหาอยู่ว่าจะทำกี่ครั้ง หรืออย่างไร ซึ่งเราก็พยายามรวบรวมทั้งหมด โดยในวันที่ 24 พ.ย. จะสรุปเรื่องทั้งหมดครั้งแรก และในประมาณปลายเดือนธันวาคมก็จะสรุปให้เสร็จ และเสนอให้รัฐบาลต่อไป