วันที่ 30 ต.ค.66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวของช่องเนชั่นทีวี รายการ “เนชั่นกรองข่าว” เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 66 ว่า สทนช. โคม่าในการยุคการบริหารของ ดร.สุรสีห์ นั้น สทนช. ขอชี้แจงว่า ท่ามกลางปัญหาด้านน้ำและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สทนช. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านน้ำ ได้มีการเร่งรัดการดำเนินงานตามภารกิจภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 อย่างไม่หยุดนิ่ง บูรณาการการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความเป็นเอกภาพ รวมถึงถอดบทเรียน พัฒนา และปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ โดยตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 64 จนถึงปัจจุบัน สทนช. มีผลงานความก้าวหน้าจากการขับเคลื่อนและพัฒนาการดำเนินงานในหลากหลายด้าน ทั้งการเร่งรัดการยกร่างและจัดทำกฎหมายลำดับรอง ภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกร่างและการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่หน่วยงานนั้น ๆ รับผิดชอบ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายของภาคส่วนต่าง ๆ รองรับการขับเคลื่อน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่จะบูรณาการการบริหารทรัพยากรน้ำให้เกิดความเป็นเอกภาพในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 27 ฉบับ คงเหลืออีก 8 ฉบับ ซึ่งอยู่ในกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดก่อนประกาศใช้

อีกทั้ง สทนช. ได้มีแนวคิดใหม่ในการปรับปรุงและพัฒนาแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ฉบับเดิม ให้มีความทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์สถานการณ์โลก เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในการกำหนดบทบาทภารกิจอย่างมีธรรมาภิบาล มีเป้าหมายการดำเนินงานที่อยู่บนฐานความเป็นจริงยิ่งขึ้น โดยมีการวิเคราะห์ปัจจัยรอบด้าน ทั้งยังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้อย่างเปิดเผย แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของการปรับปรุงและพัฒนาแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ฉบับใหม่ ภายใต้กรอบการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ 1) การจัดการอุปโภคบริโภค 2) การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3) การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4) การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ 5) การบริหารจัดการ ซึ่งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ดร.สุรสีห์ เปิดเผยต่อว่า สทนช. ยังได้กำหนดแนวทางการทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ โดยกำหนดให้การจัดทำแผนงานและแผนปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ให้เสนอคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ และ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามลำดับ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาก่อนการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปีต่อสำนักงบประมาณ ซึ่ง กนช. ได้เห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว ทำให้แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำเกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน จังหวัด และ อปท. รวมถึงช่วยลดความซ้ำซ้อน รวมทั้ง สทนช. ได้เร่งรัดการจัดทำผังน้ำ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้มีการจัดทำผังน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ให้แล้วเสร็จ และเสนอ กนช. เพื่อพิจารณา ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ปัจจุบัน สทนช. จึงต้องเร่งจัดทำผังน้ำอีก 8 ลุ่มน้ำที่เหลือโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำผังน้ำและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดย สทนช. ให้ความสำคัญกับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีอย่างแท้จริง และคาดว่าจะเสนอต่อ กนช. เพื่อให้ความเห็นชอบ ในช่วงเดือน มี.ค. 67 ก่อนเสนอประกาศผังน้ำในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะแจ้งให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำผังน้ำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำ พ.ร.บ.การผังเมือง ต่อไป

“ตั้งแต่ 1 ต.ค. 64-ปัจจุบัน สทนช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการสำคัญซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง รวม 98 โครงการเมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 353 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 3.2 แสนไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 9.8 หมื่นไร่ และครัวเรือนได้ประโยชน์ 1.7 แสนครัวเรือน เช่น อ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่ ส.ป.ก. จ.กระบี่ ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างเก็บน้ำห้วยจะกา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ลำพูน เป็นต้น และสำหรับแผนขับเคลื่อนโครงการสำคัญที่อยู่ในเป้าหมายซึ่งสอดรับกับแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ในปี 2567 หน่วยงานได้เสนอขอรับงบประมาณในระบบ Thai Water Plan จำนวน 35 โครงการ รวมทั้งมีโครงการขนาดใหญ่ที่จะขับเคลื่อนในอนาคต เช่น อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี คลองระบายน้ำหลาก ชัยนาท-ป่าสัก จ.ชัยนาท โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก กรุงเทพมหานคร ฯลฯ” ดร.สุรสีห์ กล่าว

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการรับมือภัยแล้งอุทกภัยในแต่ละฤดูกาล สทนช. มีการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและมาตรการรองรับสถานการณ์ โดยการบริหารจัดการน้ำท่วม ในปี 2564 และ 2565 ที่มีปริมาณฝนตกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในปี 2565 ใกล้เคียงปี 2554 แต่ความเสียหายน้อยกว่าปี 2554 มาก มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้สามารถบริหารจัดการสถานการณ์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ ยังมีการถอดบทเรียนจากการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อนำผลที่ได้มาใช้สำหรับปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาและรองรับสถานการณ์ โดยในช่วงฤดูฝน ปี 2566 ซึ่งประเทศไทยเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ได้วางมาตรการที่ทำให้ไม่ประสบปัญหาและเสียหายมาก มีการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากอุทกภัยในเดือน ก.ย. 66 ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ผ่านพ้นวิกฤติ รวมทั้งได้วางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี รวมถึงได้เสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือสถานการณ์เอลนีโญ โดยมีเป้าหมายให้มีปริมาณน้ำเพียงพอถึงปี 2568 อีกทั้ง สทนช. ได้เร่งพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ป้องกันปัญหาน้ำท่วมจากปริมาณน้ำที่ถูกระบายจากโครงการบางบาล-บางไทร ผ่านกรุงเทพมหานคร ในปริมาณที่มากและเร็วกว่าปกติ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนและยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง โดยโครงการได้เริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วน ในปี 2566 และมีเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดก่อนโครงการบางบาล-บางไทร

พร้อมกันนี้ สทนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำ ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายกำหนด โดยมีผลงานสำคัญ เช่น การจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำ การจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม ซึ่งในช่วงก่อน ต.ค. 64 แม้จะได้มีการดำเนินการไว้แต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากไม่ครอบคลุมการดำเนินการภายใต้คณะกรรมการลุ่มน้ำชุดใหม่ที่มีบริบทแตกต่างไปจากกรอบการดำเนินการที่ผ่านมา ฯลฯ

ในขณะเดียวกัน สทนช. ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ยังทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยผ่านการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ด้วยผลักดันให้มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนจากการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างจริงจัง ตลอดจนผลักดันให้มีการถ่ายทอดข้อมูลการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้งของพื้นที่ลุ่มน้ำโขงในประเทศไทย นอกจากนี้ สทนช. ยังให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยมีการผลิตรายการ “รู้อยู่กับน้ำ” เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อนำเสนอความรู้ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านน้ำ โดยการดำเนินงานของบุคลากร สทนช. โดยไม่มีการจ้างหน่วยงานภายนอกในการดำเนินงาน อีกทั้ง สทนช. ได้เน้นย้ำในเรื่องการบริหารจัดการครุภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุด เช่น การโอนเรือตรวจการณ์ไปยังกรมชลประทานเนื่องจาก สทนช. มีภารกิจใช้การเรือตรวจการณ์น้อยมากและสามารถขอยืมหน่วยงานอื่น ๆ ใช้ได้ รวมถึงไม่มีพนักงานขับเรือเป็นของตนเอง ฯลฯ รวมทั้ง สทนช. ยังได้พิจารณาความเหมาะสมรอบด้านในการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สทนช. ภาค 2 ที่ จ.สระบุรี โดยได้ยกเลิกสัญญาเนื่องจากไม่มีทางเข้าสำนักงาน โดยในทุกการดำเนินงาน สทนช. ให้ความสำคัญการความโปร่งใส ถูกต้อง ตรวจสอบได้ จึงได้เร่งรัดจัดทำยุทธศาสตร์จริยธรรมและคุณธรรมด้วยตนเอง เพื่อยกระดับความโปร่งใส ป้องกันการทุจริตอีกด้วย

“สทนช. ในยุคปัจจุบันยังคงมีความก้าวหน้าในอีกหลากหลายมิติอย่างต่อเนื่อง ทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ การส่งเสริมงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ในการพัฒนานโยบายด้านการจัดการน้ำ การพยากรณ์ การใช้ Nature Based solution ทั้งผ่านความร่วมมือทวิภาคีระหว่าง สทนช. และ เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฮังการี ตลอดจนความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น GIZ ของประเทศเยอรมัน Asia Water Council และ FAO เป็นต้น การขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ของ สทนช. ภาค 1-4 การสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายภาคประชาชน ฯลฯ พร้อมเปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้ สทนช. ได้วิเคราะห์หาแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงาน โดยปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องของการดำเนินงานเดิมที่มีอยู่ อาทิ การจัดทำหลักเกณฑ์ โครงสร้าง และขั้นตอนการปฏิบัติตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ให้มีการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกปัญหาด้านน้ำ ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำ จากเดิมที่กรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำตามมาตราดังกล่าว เป็นการดำเนินการเฉพาะปัญหาอุทกภัยเพียงอย่างเดียว การพัฒนาขีดความสามารถของระบบ Thai Water Plan เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานของรัฐและ อปท. ในการใช้เสนอแผนปฏิบัติการในแต่ละปีงบประมาณอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันได้ดียิ่งขึ้น และมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เป็นต้น มีการทบทวนยุทธศาสตร์ของ สทนช. เพื่อให้สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนได้จริง รวมทั้งทบทวนยุทธศาสตร์ด้าน ICT เพื่อลดความซ้ำซ้อนด้านงบประมาณ ขับเคลื่อนงานที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ไปจนถึงทบทวนคุณสมบัติในการสรรหาบุคลากร โดยปรับเปลี่ยนการสอบบรรจุตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ให้ต้องมีความรู้ด้านแหล่งน้ำหรือด้านที่เกี่ยวข้อง จากเดิมที่เปิดรับในทุกวุฒิการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและแก้ปัญหาการโยกย้ายและลาออก และได้วิเคราะห์ปรับโครงสร้างองค์กรร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการไปในเบื้องต้นแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขับเคลื่อน เพื่อให้การบริหารจัดการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกันนี้ ได้ทบทวนจัดทำยุทธศาสตร์ สทนช. ฉบับใหม่ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ สทนช. พ.ศ. 2566-2570 โดยเป็นฉบับที่ขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบันนี้ เนื่องด้วยยุทธศาสตร์ฉบับเดิมไม่ครอบคลุมภารกิจทั้งหมด

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สทนช. ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขงานเดิมให้ถูกต้องตามระเบียบและมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการเสนอนโยบายใหม่ และเร่งรัดขับเคลื่อนเพื่อให้งานด้านบริหารจัดการน้ำเกิดการบูรณาการและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สทนช. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านน้ำ จะยังคงพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำต่อไป โดยจะขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับลุ่มน้ำ ไปจนถึงระดับนโยบาย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ” เลขาธิการ สทนช. กล่าว