วันหลอดเลือดสมองโลกปี 2566 รู้เท่าทันป้องกันก่อนเกิดเหตุ เช็กที่นี่สัญญาณเตือน-วิธีป้องกันทำอย่างไรบ้าง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์วันหลอดเลือดสมองโลก ปี 2566 Together we are #GreaterThan Stroke: ร่วมมือกันป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง มุ่งเน้นการมีส่วนร่วม สร้างความตระหนักรู้เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองแก่ประชาชน โดยปีนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยแล้วกว่า 3 แสนราย เสียชีวิตกว่า 3 หมื่นราย แนะประชาชนสังเกตสัญญาณเตือนด้วยตนเองตามหลักการ F.A.S.T และขอย้ำว่า 90% ของโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้

โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่สำคัญทั่วโลกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั่วโลกพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป เป็นโรคหลอดเลือดสมอง และ 90% ของโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้

องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันหลอดเลือดสมองโลก ประเด็นการรณรงค์ในปี 2566 คือ Together we are #GreaterThan Stroke : ร่วมมือกันป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนสร้างความตระหนักรู้เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองแก่ประชาชน ดังนั้นการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเป็นบทบาทที่ทุกคน ควรร่วมมือกันแก้ปัญหาหากทุกคนมีส่วนร่วมและร่วมมือกันจะช่วยลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง

สถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองในปี 2562 (ข้อมูลจากองค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก) ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 101 ล้านคน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 12 ล้านคน (ทุกๆ 3 วินาทีพบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน) และเสียชีวิตมากถึง 6.5 ล้านคน สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี

โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ “ป้องกันไว้ดีกว่าการรักษา” เนื่องจากการรักษาที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ไห้เกิด ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ทำได้โดยการควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพลดหวาน มัน เค็ม มีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ งดการใช้สารเสพติดทุกชนิด หลีกเลี่ยงความเครียดพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และนอกจากวิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสมองแล้ว

ทั้งนี้ประชาชนควรรู้อาการหรือสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมองด้วยตนเองตามหลักการ B.E.F.A.S.T ดังนี้ B (Balance) เสียการทรงตัว เดินเซ วิงเวียน E (Eye) มองไม่เห็น, มีอาการตามืดบอดด้านเดียวหรือ 2 ข้างทันที, มองเห็นภาพซ้อน ปิดตา 1 ข้างหาย F (Face) ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยวเฉียบพลัน A (Arm) แขน ขา อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก S (Speech) พูดไม่ชัด เสียงเปลี่ยน ลิ้นแข็ง พูดไม่รู้เรื่อง พูดไม่ออกทันทีทันใด T (Time) หากมีอาการให้รีบโทรสายด่วน 1669 และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที หากไปพบแพทย์ช้า อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรืออาจจะกลายเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

โดยการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาการเตือนและปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพราะประชาชนหรือผู้ป่วยสามารถนำความรู้มาป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและประกอบการตัดสินใจในการมารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความเสี่ยงต่อความพิการและเสียชีวิต อีกทั้งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ผ่านการรักษาจนพ้นวิกฤติแล้วควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับยาและหยุดยาเองเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งนี้กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานลดบริโภคเกลือและโซเดียมร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

 

#วันหลอดเลือดสมองโลก #กรมควบคุมโรค #บริโภคเกลือ