“สมศักดิ์” ลุย “สุพรรณบุรี-อยุธยา” ร่วมงาน Big Cleaning Day กำจัดผักตบชวาขวางทางน้ำ จับคราด โชว์เก็บผักตบเอง พร้อมมอบถุงยังชีพ-สวมบทเชฟปรุงอาหารแจก แนะ ดันคลองญี่ปุ่นเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชี้ สทนช.ตั้งศูนย์น้ำส่วนหน้า เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน สั่ง ทำข้อมูลต้องมีน้ำเท่าไหร่ ถึงพอทำเกษตร

วันที่ 28 ตุลาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. ได้ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อร่วมกิจกรรม Big Cleaning Day กำจัดผักตบชวาและวัชพืชกีดขวางทางน้ำ พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย และร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง

โดยจุดแรก นายสมศักดิ์ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังโรงเรียนวัดทรงกระเทียม อำเภอบางประม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อร่วมกิจกรรม  Big Cleaning Day ซึ่งมี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และ นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ให้การต้อนรับ

นายสุรสีห์  กล่าวรายงานว่า ในพื้นที่จังวัดสุพรรณบุรี สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีปัญหาน้ำท่วมขังในบางพื้นที่และมีอุปสรรคจากสิ่งกีดขวางทางน้ำ จึงได้จัดกิจกรรม Big Cleaning Day ในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อระดมทุกภาคส่วน ร่วมสนับสนุนการกำจัดผักตบชวา ที่กีดขวางทางน้ำในบริเวณคลองญี่ปุ่นเหนือ ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า ซึ่งมีระยะทางยาว 18 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จตลอดลำน้ำ ภายในเดือนธันวาคม 2566 โดยสำหรับการดำเนินการในวันนี้ เป็นการดำเนินการระยะที่ 1 จะดำเนินการบริเวณหน้าวัดทรงกระเทียม ระยะทาง 1.28 กิโลเมตร ซึ่งได้รับการสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือสำหรับดำเนินงานจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชน ที่ร่วมแรงร่วมใจ ทำกิจกรรมในวันนี้

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันเหนื่อยในการดูแลพี่น้องประชาชน ในช่วงประสบอุทกภัย ซึ่งเราต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหา โดยตนเข้าใจความเดือดร้อนของเหตุน้ำท่วมเป็นอย่างดี เพราะตนก็อยู่เมืองน้ำ คือ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด ดังนั้น สทนช. ต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบถาวร เพราะหากเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ จะสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก อย่าง ปี 2554 ได้สร้างความเสียหายถึง 1.4 ล้านล้านบาท โดยการลงพื้นที่ในวันนี้ ตนต้องการให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกัน พร้อมช่วยกันสนับสนุนข้อมูล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในทิศทางที่ถูกต้อง อย่าง คลองญี่ปุ่น เราก็สามารถช่วยกันส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้

ทั้งนี้ ภายหลังกล่าวเปิดงาน นายสมศักดิ์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่บริเวณคลองญี่ปุ่นเหนือ เพื่อมอบอุปกรณ์ในการกำจัดผักตบชวา พร้อมร่วมเก็บผักตบชวาด้วยตัวเอง ก่อนจะติดตามดูเครื่องจักรขนาดใหญ่ กำจัดผักตบชวา นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า รัฐบาล มีนโยบาย ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง เพราะในช่วงฤดูฝน มวลน้ำจะไหลมารวมในพื้นที่ภาคกลาง อย่าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทาง สทนช. จึงได้ดำเนินการตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึง สทนช. ยังมีหน้าที่บูรณาการ ไม่ให้เกิดน้ำชะลอตัว หรือ ไม่มีอุปสรรคกีดขวางทางน้ำ เช่น ผักตบชวา จึงมีการจัดกิจกรรมในวันนี้ ส่วนแนวทางการกำจัดผักตบชวาในระยะยาว ก็ได้มีผู้เสนอให้ อบต.แต่ละพื้นที่ เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากมีความเข้าใจพื้นที่เป็นอย่างดี แต่ต้องพร้อมใจกันขับเคลื่อนทั่วประเทศด้วย ซึ่งจะเป็นการกระจายอำนาจ ตามแนวนโยบายของรัฐบาล

จากนั้น นายสมศักดิ์ ได้เดินทางต่อไปยัง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคลัง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า น้ำที่ท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เราจะแก้ปัญหาอย่างถาวรอย่างไร โดยตนได้เข้ามาดูการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง ซึ่งกำกับดูแล สทนช. ที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนให้เกิดการแก้ปัญหาแบบถาวร โดยมั่นใจว่า จะทำให้สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังได้เดินทางต่อไปยัง ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงาน โดยมี นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมประชุม

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า จะรับผิดชอบในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลเห็นชอบ ในการรับมือหน้าฝน และหน้าแล้ง ซึ่ง สทนช.ได้วางมาตรการแล้วทั้งหมด 12 มาตรการ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยจะสามารถช่วยภาคการเกษตรได้ด้วย ซึ่งตนได้มอบแนวนโยบายให้ศึกษารายละเอียดว่า ต้องมีน้ำเท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอต่อการทำการเกษตร เพื่อที่จะได้สามารถนำข้อมูลทั้งหมด มาบริหารจัดการน้ำได้ เช่น ถ้ามีน้ำ 100% ทำการเกษตรได้เท่าไหร่ หรือ ถ้ามีน้ำ 80% จะทำการเกษตรได้เท่าไหร่ รวมถึงเราต้องแก้ปัญหาให้ถึงต้นเหตุ ถึงจะสามารถรับมือกับน้ำได้ นอกจากนี้ ตนขอมอบ สทนช. ให้สำรวจหาที่ดินสำหรับทำเป็นพื้นที่รับน้ำไว้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันที่ดินราคาขึ้น แล้วประชาชนไม่ยอมให้เวนคืนด้วย จะได้มีที่ดินรองรับ หากต้องสร้างที่เก็บน้ำเพิ่มเติม