วันที่ 27 ต.ค.2566 ที่พรรคเพื่อไทยนายภูมิธรรม เวชยชัย รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่อง รัฐธรรมนูญ 2560  ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของพรรคก้าวไกลในการทำประชามติในสภาฯว่า  เป็นสิทธิ์ของพรรคก้าวไกล เราตกลงกันว่าจะทำการเมืองด้วยความสร้างสรรค์ มีเหตุผล จึงขอให้หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอให้ใจเย็นนิดหนึ่ง และรับฟังปัญหาให้มากขึ้นอีกหน่อย จะทำให้บรรยากาศในการร่วมมือกันทำงานของรัฐบาลและฝ่ายค้านจะดีขึ้นกว่านี้อีกมาก

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ความจริงตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ท่านนายกฯจะมาตอบหรือไม่มาตอบก็ได้ ถ้าท่านติดภารกิจ แต่ท่านนายกฯ ก็ใช้เวลาในช่วงที่มาได้ก็รีบมาตอบ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจในเหตุผลแบบนี้และไม่มีอคติจนเกินไป ตนคิดว่าบรรยากาศในสภาฯจะไม่เป็นเรื่องของคนสองฝ่ายขัดแย้งกัน แต่เป็นการช่วยกันคิดช่วยกันทำ อะไรที่เป็นของฝ่ายค้านที่มีข้อเสนอที่ดีรัฐบาลก็สามารถรับเอาไปดำเนินการได้ อะไรที่เป็นความเห็นของรัฐบาลก็อยากให้สนับสนุน ไม่อยากให้ ให้ใช้เวทีสภาฯ หรือเวทีอื่นๆมาทำลาย หรือดิสเครดิตกันทางการเมือง เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม

"อยากฝากพรรคก้าวไกล ว่ารัฐบาลพร้อมที่จะทำงาน โดยในวันศุกร์นี้จะมีการเปิดรับฟังความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ จากทุกพรรคการเมือง พรรคก้าวไกล กลุ่มวิชาชีพต่างๆ วันนี้เราต่างฝ่ายต่างเป็นนักการเมือง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศ เราก็ยินดีที่จะไปร่วมรับฟัง เราไม่คิดว่าจะเป็นส่วนรัฐบาล และพรรคก้าวไกลตั้งแต่ต้นว่า เราเป็นนักการเมืองที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ ดังนั้นเราควรทำการเมืองสร้างสรรค์

ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลเราต้องหาจุดที่ไม่ต้องดิสเครดิตกันตลอด ไม่อยากเห็นสภาพแบบนั้น อยากให้เห็นภาพที่ประชาชนสบายใจ อะไรที่เป็นเหตุเป็นผล และเป็นสิ่งดีก็ช่วยกันทำงาน อะไรที่มีปัญหาก็ช่วยกันแก้ไข ท้วงติง ไม่ใช่ว่าทุกประเด็น ก็จะต้องใช้โอกาสดิสเครดิสกันทุกเวลา ก็ไม่เป็นประโยชน์ ไม่สร้างสรรค์" นายภูมิธรรม กล่าว

เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกลไม่มั่นใจการทำงานของรัฐบาลในการทำประชามติ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนเคยพูดหลายครั้งแล้ว การเมืองให้ดูที่ความเป็นจริง ต้องใช้หลักการเหตุผลที่ถูกต้อง เราทราบกันอยู่แล้วว่า ตรรกะที่พรรคก้าวไกลเสนอจะร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งเป็นประเด็นที่เรารู้อยู่แล้ว แต่ยังมีส่วนหนึ่งที่มีความเห็นแตกต่างกัน ถ้ายังยืนแบบนี้ต่อก็ไปไม่ได้ เหมือนที่ในอดีตเคยเสนอก็ถูกปฏิเสธ เราเคยบอกแล้วว่าอยากแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น และทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องเพื่อให้ผ่านไปให้ได้

อยากเห็นประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แบบสุดขั้ว และไม่คำนึงถึงความเห็นที่แตกต่าง การที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้ประสบผลสำเร็จ ได้จริงต้องดูว่าสังคมส่วนใหญ่ยังมีประเด็นไหนที่ยังวิตก อะไรที่เป็นสิ่งร่วมกันควรจะทำ อะไรที่ยังวิตกก็ว่ากัน ตนก็เคารพความเห็นที่แตกต่าง แต่การแสดงจุดยืนของแต่ละคนได้ แต่จะทำอย่างไร ให้คนส่วนใหญ่ อย่างวุฒิสภา สภาฯและประชาชนเข้าใจ อันนี้จึงเป็นที่มาของการตั้งอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ พยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ ก็ขอร้อง อยากให้สร้างสรรค์ ช่วยกัน อย่าอคติต่อกัน จะทำให้สามารถทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปได้ด้วยดี