นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลพบว่า วันนี้ 26 ต.ค.) ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงตามภูมิภาค แต่เป็นการปรับลดลงมากที่สุดเทียบกับตลาดในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งในแต่ละกลุ่มหุ้นก็ปรับตัวลดลงไม่เท่ากัน โดยตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ การประเมินในภาพรวมอาจเข้าใจลำบาก อาจต้องดูเป็นรายอุตสาหกรรมว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ทั้งดัชนี และการถือครองของต่างชาติ เพราะมีผลกระทบกับการเคลื่อนไหวของดัชนีค่อนข้างมากในช่วงระยะหลังนี้ โดยภาวะตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐ ยุโรป ปรับลดลงในทิศทางเดียวกับไทย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจคือ จากนี้ยังมีปัจจัยที่เป็นความไม่แน่นอนอีกหลายเรื่องที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ในช่วงนี้อาจมีเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม จึงอยากฝากนักลงทุนดูข้อมูลและติดตามผลกระทบให้ดี เนื่องจากปัจจัยความขัดแย้งและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ จะมีผลทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น จึงยืนยันว่าหุ้นไทยไม่ได้มีปัญหา พื้นฐานยังแข็งแกร่งในหลายอุตสาหกรรม แต่เป็นไปตามภาวะต่างประเทศเป็นหลัก

"ปัจจัยในประเทศมีผลกดดันตลาดหุ้นไทยมากน้อยเท่าใดนั้น อยากให้รอฟังข้อมูลจากรัฐบาลมากกว่า เพราะตลท.ไม่ได้มีข้อมูลดังกล่าว รวมถึงเป็นผู้รับฟังข้อมูลจากรัฐบาลด้วยเช่นกัน โดยสิ่งที่อยากเน้นมากกว่าคือ ให้ดูสภาพเศรษฐกิจที่เป็น และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ดัชนีควรจะเป็นอย่างไรมากกว่าแทน แต่ปัจจัยการเมืองจะเป็นอย่างไรอยากให้นำมาใช้พิจารณาคู่กับสิ่งที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนความคืบหน้าการขยายเวลาเปิดตลาดหุ้นไทยเร็วขึ้น และใช้เวลามากกว่าเดิม ยืนยันว่ายังอยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดหุ้นไทยทั้งหมด จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้" 

นายภากร กล่าวว่า การไหลออกของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ขณะนี้ขายสุทธิสะสมอยู่ที่ 1.7 แสนล้านคน เทียบกับการเข้าซื้อหุ้นไทยประมาณ 2 แสนล้านบาทเมื่อปี 2565 ทำให้มีฟันด์โฟลว์เหลือในตลาดหุ้นไทยอยู่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่น่าสนใจคือ ปริมาณการถือหุ้นไทยของต่างชาติมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก หากเทียบเป็นสัดส่วน ย้อนไปเดือนพฤศจิกายน 2565 มีถือครองหุ้นไทย 29% เดือนตุลาคม 2566 ถือครองอยู่ประมาณ 29.31% แต่การปรับลดลงของดัชนีหุ้นไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปริมาณเม็ดเงินที่ถือครองหุ้นจาก 5.75 ล้านล้านบาท ลดลงเหลือ 5.02 ล้านล้านบาท ส่วนที่ขายออกไปมากๆ เป็นการถือครองหุ้นไทยระยะสั้นเป็นหลัก ส่วนระยะยาวไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก

นายภากร กล่าวว่า สำหรับการ Forced Sell หรือ การบังคับขายหลักทรัพย์ค้ำประกัน และการ Short Sell (การขายชอร์ต) หรือการซื้อขายที่เก็งกำไรจากการลดลงของราคาหุ้นแบบยืมมาขายก่อน มีความจำเป็นต้องทบทวนมาตรการหรือไม่ เบื้องต้นข้อมูลของประเด็นดังกล่าว ตลท.ติดตามประเมินมาตลอดและไม่พบความผิดปกติใด

ส่วนของความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนเนื่องจากหุ้นไทยเผชิญปัญหาความไม่น่าสนใจ และมีการตกแต่งบัญชี มองว่าเป็นปัจจัยคนละปัจจัย เพราะเรื่องความมั่นใจ แม้เป็นสิ่งที่เราพยายามป้องกัน แต่ก็เกิดขึ้นได้หากมีคนโกง ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และไทยมีบจ. อยู่ 900 บริษัทในอดีตอาจยังไม่มีการป้องกันได้มากเพียงพอ