วันที่ 26 ต.ค.66 ณ ห้องประชุมพิชชาภรณ์รีสอร์ท อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน นางสุนันทา สุภาวสิทธิ์ นายกสมาคมสถาบันปัญญาวิถี ตัวแทนคณะทำงานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวรายงานต่อ นายสากล ชนะบูรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 ประธานในพิธี เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดการความรู้และพัฒนานวัตกรรมการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา อาจารย์ เยาวชน ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และอำเภอขุนยวม เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งตั้งอยู่ในภาคเหนือด้านตะวันตก มีขนาดใหญ่ของพื้นที่เป็นอันดับ 8 มีเขตปกครอง 7 อำเภอ 45 ตำบล 415 หมู่บ้าน มีประชากร 13 กลุ่มชาติพันธุ์ ในภาพรวมประมาณ 2 แสนกว่าคน มีจำนวนผู้เรียนทุกระบบรวมกัน 6 หมื่นกว่าคน มีเด็กนักเรียนด้อยโอกาส เกือบ 4 หมื่น และมีเด็ก/เยาวชนนอกระบบการศึกษา 1 หมื่นกว่าคน
จากฐานข้อมูล กสศ. พบว่า แม่ฮ่องสอน มีจำนวน เด็กเยาวชนทั้งหมด 56,000 กว่าคน ในจำนวนนี้อยู่ในระบบการศึกษา 43,000 กว่าคน และมีเด็ก/เยาวชน นอกระบบการศึกษา (3-24 ปี) ประมาณ 12,000 กว่าคน เด็กเล็ก 500 กว่าคน เด็กประถมศึกษา 1600 กว่าคน เยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ไม่จบม.6 จำนวน 3200 กว่าคน ในจำนวนนี้ มีประมาณ 1700 คนยังไม่จบ ม.3 (กศ.ภาคบังคับ)
1 ปีที่ผ่านมา ได้มีการสร้างกลไกความร่วมมือระดับหน่วยงานในพื้นที่โดยสร้างการรับรู้ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ พร้อมส่งต่อข้อมูลให้ผู้ใหญ่บ้านตรวจสอบรายชื่อและวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายเพื่อยืนยันสถานะ โดยการดำเนินงานมีเครือข่ายเยาวชนก่อการดี เครือข่าย อสม.และเทศบาลตำบลเป็นคณะตรวจสอบและทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนารูปแบบและกระบวนการ (platform) ในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (การศึกษาทางเลือก) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระดับจังหวัด โดยการสร้างโอกาสการจัดการเรียนรู้ สู่ การสร้างโอกาสด้านการพัฒนาอาชีพ ที่สอดคล้องวิถีชีวิตของแต่ละชุมชน ตามบริบทเมืองพิเศษทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ร่วมกับผู้ประกอบการในและนอกจังหวัดแม่ฮ่องสอน
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาศักยภาพด้านกสารออกแบบการจัดการศึกษาของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยกระบวนการประเมินเพื่อการการพัฒนา ( DE: Developmental Evaluation ) ซึ่งมีการร่วมกันระดมภาพฝันในอนาคต สำหรับออกแบบการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นกับผู้เรียน ตลอดจนการออกแบบหลักสูตรสถานศึกษา การกำหนดผลลัพธ์หลักตัวชี้วัด กิจกรรม และแผนการดำเนินงาน โดยกระบวนการมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการดำเนินงานของคณะทำงานที่หลอมรวมความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อสร้างโอกาสลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องในวันนี้ จะเป็นการขับเคลื่อนการจัดการความรู้และพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ให้สามารถสร้างโอกาสการพัฒนาเด็กและเยาวชนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจะได้ร่วมกันจัดการความรู้เพื่อพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ให้สามารถนำกลับไปใช้ในการจัดการศึกษาของทุกสถานศึกษา และการพัฒนาเด็ก เยาวชนทุกรูปแบบการเรียนรู้ต่อไป