บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

ประเด็นปฏิรูปตำรวจเดือด

นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2458 เป็นวันประกาศรวม “กรมพลตระเวน” กับ “กรมตำรวจภูธร” เป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมตำรวจ” นับรวมเวลาได้ 108 ปีเต็ม มีคำถามคงมีมานานแล้ว แต่อาจไม่มีใครกล้าคิด กล้าพูดว่า ทำไมต้องปฏิรูปตำรวจ ลองไปสืบค้นดูความเป็นมาพบว่า มีการพูดถึงการปฏิรูปตำรวจ ในปี 2558 สมัย คสช.รัฐบาลได้สั่งการให้คณะอนุกรรมาธิการของ สนช. และ สปท. ไปพิจารณาใหม่ จะมีอีกทางหรือไม่ที่จะให้ตำรวจเป็นตำรวจพื้นที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด และอยู่ในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และบางส่วนไปอยู่กับ กอ.รมน. เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการ ให้โอนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ไม่ให้นักการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้งตำรวจ เพื่อป้องกันการ ใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจ โดยมิชอบและรักษาอำนาจ เป็นวาระแห่งชาติจนกระทั่งมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในที่สุด

การปฏิรูปตำรวจได้ถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีเหตุผลความจำเป็นบัญญัติไว้ในการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 257 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายการปฏิรูป มาตรา 258 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดประเด็นการปฏิรูปว่า ต้องดำเนินการปฏิรูปอย่างน้อย 7 ด้าน รวม 32 ประเด็น มาตรา 259 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดกลไกในการปฏิรูปในภาพรวม มาตรา 260-261 กำหนดกรอบการดำเนินการในเรื่องการปฏิรูป 2 เรื่อง ที่เป็นรากฐานสำคัญ คือ การปฏิรูปกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิรูปการศึกษา

หนึ่งในการปฏิรูป "ด้านกระบวนการยุติธรรม" ที่สำคัญก็คือ การปฏิรูปตำรวจ เพราะตำรวจเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดให้มีหน่วยงานบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกัน เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวน กำหนดให้มีการเสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขององค์กร กำหนดให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจและเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ

จากข่าวดังเดือนกันยายน 2566 เกียรติตำรวจของไทย เกียรติวินัย กล้าหาญ มั่นคง เสื่อมลง จากงานเลี้ยงที่บ้านกำนันแห่งนครปฐมที่จัดมาทุกปี มีการเชิญตำรวจไปร่วมงานจำนวนมาก แต่ปีนี้มีเหตุการณ์ยิงนายตำรวจระดับสารวัตรตายในงานอย่างอุกอาจ ทำท่าจะจับคนยิงไม่ได้ ด้วยมีเหตุซับซ้อนอธิบายยากว่าเกิดอะไรขึ้น ไปๆ มาๆ ก็มาลงข้อสรุปว่าเป็นเพราะอิทธิพลทั้งธุรกิจมืดและสว่าง หลายอย่างที่พัวพันกันมาถึง “ส่วย” ทำเอาสังคมไทยช็อกโจษขานกันมาก แต่ก็ได้แค่พูดกัน ยังไม่เห็นฝ่ายอำนาจทำอะไรกับการปฏิรูปตำรวจได้ ทั้งๆที่ได้พูดกันมา 8-9 ปีแล้ว ตั้งคณะกรรมการหน้าซ้ำมาศึกษาแล้วหลายชุด แต่สุดท้ายผ่านกฎหมายได้ฉบับเดียว คือ “พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565” ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 64 ก วันที่ 16 ตุลาคม 2565 โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ที่ใช้มา 18 ปี

สถิติข่าวอื้อฉาว รวมทั้งการดำเนินคดีที่พิสดารซับซ้อนยิ่งมีมากขึ้น ยิ่งคดีออนไลน์ยิ่งมีมาก ทั้งกรณีที่ประชาชนถูกหลอกลวงไซเบอร์ออนไลน์สารพัดวิธี แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพหลอกโอนเงิน เป็นภัยออนไลน์ของประชาชน ที่ยังแก้ไขไม่ได้ ฝั่งเจ้าหน้าที่ก็มีการเกิดธุรกิจมืดดิจิทัลออนไลน์ต่างๆ เช่น การพนันออนไลน์ การฟอกเงิน ตามข่าวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดทำโครงการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน ด้วยการร่วมสนุกเป็นผู้แนะนำ ประชาชนมาทำ "ข้อสอบไซเบอร์วัคซีน 40 ข้อ" ในขณะที่ข่าวปัญหาเรื่องความเครียดส่วนตัว หนี้สินของตำรวจก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจผู้น้อย จำนวนไม่น้อยพึ่งระบบสหกรณ์ กู้เงินใช้จ่าย และด้วยระบบที่ไม่มีการควบคุม ไม่ได้วางสัดส่วน หนี้สิน ดอกเบี้ย และเงินเดือน ให้พอดีกัน หลายคนเป็นสมาชิกสหกรณ์หลายแห่ง จึงอยู่ในสภาพ “ชีวิตติดหนี้” โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และโครงการ Money Management & Investment พร้อมมอบทุนแก่บุตรข้าราชการตำรวจที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ระดับอุดมศึกษา ปีละ 40,000 บาท 4 ปี หรือ 6 ปี ตามสาขาที่เรียน แม้ว่าสวัสดิการตำรวจจะมีทั้งในระบบ และนอกระบบซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะสวัสดิการในระบบมีน้อยนิด สวัสดิการอาวุธปืนตำรวจ ก็เป็นเงินส่วนตัวซื้อเอง ที่มีปัญหา เพราะ ตำรวจผู้น้อยต้องขวนขวายหาอาวุธปืนดีๆ ที่มีราคาแพงมาเป็นของตนเองในการปฏิบัติหน้าที่ ข่าวตำรวจลงขันหักเงินจากเบี้ยเลี้ยงเพื่อทำกิจกรรมอะไรสักอย่างเพื่อส่วนรวมจึงมีจริง เพราะไม่รู้จะไปหักเงินจากตรงไหนจากตำรวจน้ำดี เป็นต้น นอกจากนี้ตำรวจหากิน ตำรวจรับจ๊อบ ตำรวจทำงานส่วนตัวจะมีน้อย เพราะอาชีพตำรวจมีภารกิจหน้าที่ที่รัดตัวมาก ไม่ได้มีโอกาสให้ตำรวจมีเวลาไปรับงานส่วนตัวได้ เว้นแต่งานการรักษาความสงบ งาน รปภ. งานการ์ด ตามงานบุญ งานเอกชน หรืองานสีเทาสีดำ (ไม่ใช่งานศพ) เป็นต้น “การเกิดผู้มีอิทธิพล” เหล่านี้ล้วนมาสะท้อน “ปัญหาระบบราชการกับการทุจริตคอร์รัปชัน”

ตำรวจนอกรีต vs ตำรวจน้ำดี

ในดำก็มีขาว ในขาวก็มีดำ มีเทาๆ ดำๆ ปะปนกัน คอลัมน์ “มองไกล เห็นใกล้” โดยมหาปราบ จากข้อกล่าวหาล่าสุดตำรวจระดับผู้การ ร่วมกับตำรวจ-พลเรือนนับ 10 คน ตบทรัพย์ผู้ต้องหาเว็บพนันออนไลน์ มีคดีอาญาแจ้งความ สภ.คูคต มีคำอ้างวลีเด็ด “เป้รักผู้การเท่าไหร่ … เขียนมา” เป็นเรื่องสินบาทคาดสินบนที่คนในวงการทราบดี เป็น “จรรยาบรรณ” ที่คนในสังคมต้องช่วยกันเปิดประเด็น เพราะเมื่อใดที่ “คุณธรรม จริยธรรม” ของผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเสื่อมถอยลง กลียุค “มิคสัญญี” ก็จะเกิดขึ้น

“กฎ ก.ตร.ว่าด้วยจรรยาบรรณของตำรวจ” ประกาศเมื่อ 12 มิถุนายน 2566 ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่แล้ว มีกำหนดกรอบการประพฤติปฏิบัติของตำรวจไว้ 12 ข้อ ให้มีผลบังคับเมื่อพ้น 60 วันนับจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา สาระสำคัญกำหนดทั้งเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และอุดมคติตำรวจ ให้เป็นแนวปฏิบัติ โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจพึงหลีกเลี่ยงและละเว้นจากอบายมุขทั้งปวงหรือกระทำการอื่นใด ที่อาจนำไปสู่ความเสื่อมเสียต่อตนเอง ครอบครัว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกตัวอย่างข้อ 6 ระบุ ข้าราชการตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และไม่แสวงหาประโยชน์ โดยมิชอบ รวมทั้งไม่ใช้ตำแหน่ง อำนาจหรือหน้าที่ หรือยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่ง อำนาจหรือหน้าที่ของตน แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือใช้ไปในทางจูงใจ หรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ การใช้ดุลพินิจ อันเป็นผลให้สูญเสียความยุติธรรม ตำรวจ “นอกรีต” ไม่เพียงทำลายภาพลักษณ์องค์กร แต่พาให้ตำรวจน้ำดีเสียกำลังใจ เปรียบ “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง” โทษตามกฎหมายอาญาระบุไว้ชัดในประมวลกฎหมายอาญา เช่น มาตรา 143 (เรียกรับ) มาตรา 149 (เจ้าพนักงาน กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง) หรือ มาตรา 157 (เจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ)

โพลชี้ประชาชนไม่เชื่อมั่นตำรวจ

ปัจจุบันเมื่อเรื่องของตำรวจไม่ได้จบแค่การจับผู้ร้าย ยังรวมมาถึงความเกี่ยวพันกับการเมืองไทย (จากจับโจรสู่เกมการเมือง) จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา เอาหละมาดูศูนย์สำรวจความคิดเห็นกัน

วิทยาลัย “สยามเทคโนโพล” (17 กันยายน 2566) เผยผลสำรวจเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ชี้ถึงเวลา “ปฏิรูปตำรวจ” กู้ศักดิ์ศรี หยุดยั้ง “มาเฟีย” 92.2% หดหู่ใจ สะเทือนใจต่อการสูญเสีย “สารวัตรแบงค์” คดี “กำนันนก” 88.0% เชื่อ ขัดขวางผลประโยชน์ “ขบวนการส่วย”

“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (8 ตุลาคม 2566) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ประชาชนเชื่อมั่นตำรวจแค่ไหน” ในการปราบอบายมุข สิ่งผิดกฎหมาย และการบริหารงานองค์กร สำรวจระหว่าง 2-5 ตุลาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อตำรวจในด้านต่างๆ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

ยาเสพติดและปัญหาอาชญากรรมก็เดือด

ข่าวการจับกุม ทลายยาเสพติดลอตใหญ่มาเป็นระลอก ที่จ.บุรีรัมย์ (ข่าว 14 ตุลาคม 2566) ตำรวจ ปส.บุรีรัมย์สนธิกำลัง ตชด. ทหารและฝ่ายปกครองรวบเดนคุกยึดยาบ้ากว่าครึ่งแสนเพิ่งพ้นโทษได้เดือนเดียวกลับมาค้าอีก จับกุมตัวผู้ต้องหาค้ายาเสพติด 2 คน พร้อมของกลางยาบ้า 56,800 เม็ด และ ข่าวศุลกากรหนองคาย (ข่าว 16 ตุลาคม 2566) จับชาย 2 คนรับจ้างขนยาบ้าเกือบ 6 หมื่นเม็ด ซุกมากับเครื่องฟอกอากาศอ้างไม่ทราบว่าข้างในเป็นยาเสพติด

นอกจากปัญหายาเสพติด ทั้งยาบ้า ยาไอซ์ กัญชา กระท่อม ยังมีข่าวอาชญากรรมอื่นๆ อาวุธปืนเถื่อน (รวมสิ่งเทียมอาวุธปืน) อาชญากรรมข้ามชาติและคนต่างด้าว คดีค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อน สินค้าเถื่อน การพนัน (ออนไลน์) มาเฟีย เหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางของ ส่วย เงินใต้โต๊ะ สินบน วิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง ข่าวตำรวจจับตำรวจ ตำรวจปราบมาเฟีย ตำรวจเป็นพวกเดียวกับมาเฟีย ตำรวจมีสายเป็นโจร เลี้ยงโจรปราบโจร วิธีปราบผู้มีอิทธิพลของผู้มีอำนาจ​ คือการใช้กลยุทธ์เพื่อเอามาเป็นพวก​ ตัวชี้วัดความสำเร็จคือผลประโยชน์ลงตัว บ้านเมืองเราก็มีเท่านี้เอง นโยบาย มท.1 ขอเวลา 6 เดือนล้างบาง ”ผู้มีอิทธิพล” ขอให้เป็นจริง ส่วยทางหลวง “ส่วยรถบรรทุก” มันท้าทายความสามารถของตำรวจน้ำดีที่จะขจัดอาชญากรรมซ้ำซากนี้ให้หมดไป

ระบบราชการตำรวจ คือการดื้อดึงรวมศูนย์อำนาจ ที่ตรงข้ามกับการกระจายอำนาจให้หน่วยงานส่วนกลางทำนั่นแหละ คือการ “หาเงินเทา เงินทอน” ได้ง่ายกว่า ตำรวจจึงไม่ถ่ายโอน มีแต่จะขยายส่วนราชการออกไปทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จึงไม่แปลกใจเลยที่มี ตำรวจทางหลวง (ทล.) ตำรวจรถไฟ (รฟ.) ตำรวจน้ำ (รน.) ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ตำรวจป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตำรวจท่องเที่ยว (ทท.) ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และต้องคอยดูต่อไปว่าจะมีหน่วยตำรวจใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหรือไม่ เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจขนส่ง ตำรวจท่าเรือ ตำรวจสนามบิน เป็นต้น ทั้งนี้ไม่รวมตำรวจรัฐสภา (สังกัดสำนักรักษาความปลอดภัย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร) ตำรวจศาล (เป็นข้าราชการศาลยุติธรรม) หรือ ตำรวจดับเพลิง (ซึ่งโอนภารกิจไป กทม.นานแล้ว)

การเป็นที่รวมศูนย์อำนาจในหลายเรื่อง กระจายอำนาจต้องดูแลให้ดี ทั้งการรวมศูนย์และการกระจายอำนาจ แดน “มิคสัญญี” เกิดขึ้นได้ง่ายๆ หากการกระจายอำนาจไม่มีหลักความสมดุล เพราะนี่คืออิทธิพลตัวจริง ผลประโยชน์สีดำสีเทา (รวมเงินทอนต่างตอบแทน) แลกเปลี่ยนกันได้ง่าย รวมทั้งการซื้อขายตำแหน่ง ไม่ต้องไปคิดถึงประโยชน์ที่จะไปถึงประชาชนที่มีน้อย แต่มักมีผลร้ายมากกว่า ความเสื่อม ความเชื่อถือศรัทธาในองค์กรและในตัวข้าราชการลดลง ชาวบ้านหวังพึ่งรัฐ ลองช่วยกันคิดประเด็นการปฏิรูปตำรวจที่เร่งด่วน เพื่อกู้วิกฤตศรัทธาน่าจะมีอะไรบ้าง

แถมท้ายด้วยข่าวดัง ประชาชนฟ้องศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 (กำหนดแบบใบสั่ง แบบใหม่) และ เรื่อง กำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตาม พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 (การกำหนดจำนวนค่าปรับฯ) ที่ออกมาเมื่อ 20 กรกฎาคม 2563 รวม 2 ฉบับ เพราะเป็นการออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่รอง ผบ.ตร.เห็นว่า “ตร.จราจร” ยังออกใบสั่งและเปรียบเทียบปรับได้เหมือนเดิม เพราะ คดียังไม่ถึงที่สุด สตช.ยื่นอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2443/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1855/2566 วันที่ 27 กันยายน 2566

ตามด้วยข่าวดังข่าวล่าช่วงนี้ มีกฎระเบียบใหม่ที่เป็นข่าว คือ ผบ.ตร. (11 ตุลาคม 2566) ประกาศเปลี่ยนทรงผมตำรวจให้ไว้ผมยาวได้สูงสุด 5 เซนติเมตร ซึ่งเดิมผมตำรวจยิ่งกว่าทหาร คือ “ทรงหัวเกรียน”

นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงการทุจริตต่างๆ ในแวดวงตำรวจ ดังมีโครงการจัดซื้อจัดจ้าง (พัสดุ) ใหญ่ๆ ด้วย ที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่งในองค์กรภาครัฐก็ยังมีอยู่ไม่น้อย ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุแห่ง “ความเชื่อมั่นตำรวจในการปราบอบายมุข สิ่งผิดกฎหมาย” ที่ด้อยลงทุกวัน ความหวังปฏิรูปตำรวจดูจะทรงๆ ไม่กระเตื้องขึ้น เพราะการสร้างธรรมเนียมสินบน เถื่อนๆ เทาๆ มีอยู่ทั่วไป เจอแต่ปัญหาวังวนเดิมๆ ไม่ต้อง “จำใจ” ที่จะปฏิรูป ลองตั้งใจปฏิรูปทำจริงๆ ไปเลยจะดีกว่า