ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“อย่าหวั่นไหวกับความยากลำบาก ที่ถาโถมเข้าสู่ชีวิตของเรา มันคือฉากของการประจันหน้า..ระหว่างความทุกข์เศร้า กับการมีชีวิตรอด...สิ่งเหล่านี้คือความหมายแห่งบทเรียนของชีวิตในครั้งแล้วครั้งเล่า  กระทั่งกลายเป็นการเติมเต็มจิตวิญญาณแห่งความอดทนมากกว่า..จะมุ่งรอคอยแต่ความสะดวกสบาย...เมื่อเราต่างเข้าใจความหมายของชีวิตเช่นนี้แล้ว..เราจะไม่รู้สึกเลยว่า..ชีวิตของเรานั้นไร้ความหมาย..เพราะเราจะไม่สนใจที่จะนำชีวิตไปเปรียบเทียบกับความคาดหวังใดๆ..แต่เราจะดำเนินชีวิตต่อไป..ด้วยการยอมรับชะตากรรมที่รุกกระหน่ำเข้าหา..แล้วพร้อมที่จะตอบสนองมัน..อย่างดีที่สุด..”

นี่คือส่วนสำคัญทางสำนึกคิดที่ได้รับจากหนังสือ “อย่าสูญสิ้นความหวัง เพราะชีวิตยังมีความหมาย” (Yes to Life)..งานเขียนของ “วิคเตอร์ อี. ฟรังเคิล” (Victor E. Frankn) จิตแพทย์ชาวออสเตรีย..ผู้เคยตกอยู่ในวิบากกรรม โดนคุมขังอยู่ในค่ายกักกันของนาซี..และได้รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด..

ในขณะที่ชีวิต ตกอยู่กับสภาวการณ์ที่มืดมน หดหู่ และ ไร้หวัง..ดั่งแขวนอยู่บนเส้นด้ายแห่งความตายของชีวิต..เข้าได้ตระหนักถึงนัยบางอย่าง ที่ฝังลึกอยู่ในตัวตน...มันมีคุณค่ายิ่งใหญ่ ที่ปลุกเร้าให้เขาต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปให้จงได้..

หนังสือเล่มนี้จึงเปรียบดั่งบทบันทึกที่ถูกเขียนขึ้นมา เพื่อต่อสู้ฟาดฟันกับประมวลคำถามแห่งรอยบาดเจ็บที่ว่า.. “เมื่อเราทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย..เรื่องราวแห่งชีวิตของเราก็เป็นดั่ง..สิ่งที่บังเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว..ไม่ได้มี่ความสำคัญกับทั้งใครและสิ่งใด..แท้จริงแล้ว..ในแค่อีกไม่กี่ปี ชีวิตของเราก็ถูกลืม ไม่มีใครจดจำได้..เหตุนี้..คำถามสำคัญก็คือว่า..เราจะมีชีวิตไปเพื่ออะไรกัน?”

“ฟรังเคิล” ได้ให้ข้อสรุปสำคัญต่อความหมายของชีวิตว่า..มีอยู่ 3 วิถีทาง..ที่จะช่วยเติมเต็มความหมาย นั่นคือ..วิถีแห่งการกระทำ...ไม่ว่าจะด้วยการสร้างสรรค์ผลงาน หรือการทุ่มเทหัวใจทำในสิ่งที่รัก..วิถีที่สองคือวิถีแห่งการชื่นชมในธรรมชาติ ด้วยการปลูกฝังตัวตนตนต่อการรักผู้คน และ วิถีสุดท้าย คือวิถีแห่งความหาญกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความตาย..ด้วยการอดทนต่อชะตากรรมอันหม่นมืดโหดร้าย..อย่างถึงที่สุด..

ทั้งหมดสื่อแสดงถึงว่า..เราทุกคนสามารถค้นพบความหมายของชีวิตได้..ด้วยการกระทำ..ความรัก และ..ความทุกข์..นั่นคือสัจธรรมอันถ่องแท้และสูงค่า..ต่อการรับรู้ของความเป็นชีวิต..

ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่ “ฟรังเคิล” ได้กล่าวเอาไว้..ก็คือ ..รูปรอยของความสุข..ที่ด้วยตัวของมันเอง..ไม่สามารถที่จะให้ความหมายต่อการดำรงอยู่ของเราได้..ตรงกันข้าม..การไร้ความสุข..ก็ไม่ได้ทำให้เราต้องสูญสิ้นความหมายแห่งชีวิตไปด้วยเช่นกัน..

ดังนั้น..ความสุขจึงไม่ควรจะถูกตั้งเป็นเป้าหมาย..แต่ควรจะถูกกำหนดให้มีสถานะเป็นเพียง..ผลลัพธ์จากการตอบสนองต่อหน้าที่แห่งการมีชีวิตอยู่มากกว่า..นั่นจึงหมายความว่า.. “ความสุขหาใช่สิ่งอันเป็นที่สุดของชีวิต..เราจะต้องไม่ดำรงชีวิตและดำเนินชีวิตเพื่อหวังจะเสพและได้รับความสุขเพียงอย่างเดียว..”

“ฟรังเคิล”..ได้เคยเขียหนังสือที่สร้างชื่อให้เขาโด่งดังเล่มหนึ่งในชื่อว่า “Man's Search for Meaning” และได้ถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “ชีวิตไม่ไร้ความหมาย” เล่าถึงวิธีการรักษาอาการจิตเวช ในค่ายกักกันของนาซี ..เมือปีค.ศ.1946..ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่เขาตอกย้ำให้โลกได้รับรู้ว่า.. “ ไม่สมควรมีใครที่จะไปตัดสินชีวิตของใครว่าไร้ความหมาย..หรือไปตีขลุมเอาว่า..ใคร..ไม่ควรค่าต่อสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ เหมือนอย่างที่พวกนาซีได้กระทำ..”

ใจความหลักของหนังสือเล่มนี้ที่ “ฟรังเคิล” ต้องการบอกต่อเราก็คือ..เป้าหมายของชีวิตไม่ได้อยู่แค่ความคาดหวัง การตอบสนองความปรารถนา และ การวิ่งไล่หาความสุข..หากแต่มันคือการตอบสนองต่อโจทย์ของชีวิต..ที่ประเดประดังเข้ามาในแต่ละห้วงขณะ..การตอบต่อโจทย์ของชีวิตในลักษณะเช่นนั้นอย่างดีที่สุด..จะทำให้เราประสบกับความสุขและได้พบกับความหมายของชีวิต..เป็นดั่งการได้พบกับประตูของความสุข..ซึ่ง “เซอเรน เคียร์เคอการ์ด” (Soren Kierkegaard) นักปรัชญาชาว เดนมาร์ก ในศตวรรษที่19..ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า.. “ประตูของความสุขนั้นเปิดออกด้านนอกเสมอ”..ซึ่งก็คือนิยามเปรียบเทียบถึงว่า..ถ้าเราพยายามที่จะผลักประตูเข้าไปหาความสุข..เราจะผลักเข้าไปไม่ได้..ซึ่งก็คือคำอธิบายถึงว่า “ความสุขย่อมจะไม่ได้พบจากการไล่ล่า ตามหา.และติดตันอยู่เพียงความคาดหวัง”

ทั้งนี้ก็เพราะว่า..ชีวิตที่มีความหมายนั้นหาได้อยู่ที่ความคาดหวังต่อการกระทำใดๆในแต่ละครั้ง..แต่อยู่ที่การเลือกวิธีการที่จะต่อสู้ในแต่ละช่วงตอน..ด้วยการตอบสนองต่อการกระทำนั้นๆอย่างดีที่สุดเท่านั้นเอง..ที่สามารถจะสร้างความหมายอันแท้จริงให้แก่เรา..

ว่ากันว่า..การฆ่าตัวตายก็เปรียบดั่ง การล้มกระดานหมากรุก..แม้มันจะทำให้ชีวิตหลีกหนีจากความทุกข์ทรมาน แต่การไม่รับผิดชอบที่จะพยายามอดทนเพื่อเลือกเดินหมากตัวดีๆของชีวิต ก็คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตไม่ถูกเติมเต็ม..

ชีวิตของเราจะถูกเติมเต็มหรือไม่นั้น..ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าการกระทำของเรา..มีอิทธิพลแผ่กว้างเพียงใด..แต่ขึ้นอยู่กับวัฏฏะของสำนึกรับผิดชอบ ณ ห้วงเวลานั้น..ว่าถูกเติมเต็มด้วยความกระจ่างชัดและถูกต้องแล้วหรือไม่..มันหมายถึงว่าเราต่างยอมรับชะตากรรม แล้วตอบสนองกับมันได้อย่างดีที่สุดแล้วหรือเปล่า..

ณ ที่สุด..บทสรุปของหนังสือเล่มนี้ก็ระบุว่า.. “ท่ามกลางความเลวร้ายต่างๆนานาในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นในยุคหลังสงครามหรือปัจจุบัน..หนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เห็นว่า..คุณค่าและความหมายของชีวิตคนเรา ไม่ได้สูญสลายไปจากการถูกกระทำ ด้วยความโหดร้ายเหล่านั้น..ชีวิตของเรายังพร้อมจะเติบโต..ผลิบานขึ้นใหม่ ตราบที่เรายังคงมีความหวัง และยืนหยัดว่าจะยืนหยัดอยู่ต่อไป..

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ด้วยถ้อยคำที่สร้างพลัง ปรัชญาแห่งการดำรงชีวิตอยู่..ซึ่งทำให้เราได้ตระหนักว่า.. แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายแสนสาหัสทั้งด้านกายภาพและจิตใจ เช่นที่ “ฟรังเคิล” ได้เคยประสบมา..ซึ่งนั่นไม่ได้ทำให้คุณค่าและการเป็นมนุษย์ของเราหายไป..ตราบที่เรายังยึดมั่นในความหวัง และ ยืนยันที่จะมีขีวิตอยู่ต่อไปในยุคที่ความหดหู่สิ้นหวังรายล้อม เช่นในปัจจุบัน..

แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเกือบแปดทศวรรษ..แต่ความคิดและถ้อยคำของ “ฟรังเคิล” ยังคงเป็นอมตะ..สงครามโหดร้ายและหายนะแห่งความขัดแย้งเกิดขึ้นกับโลกอีกแล้วอย่างไร้สติและบ้าคลั่ง..โลกแห่งแผ่นดินสงคราม..ยังคงต้องตกอยู่ในหลุมลึกของความ.สับสน โหดร้าย พร้อมความหดหู่สิ้นหวัง..ความเกลียดชังระเบิดความเป็นศัตรูที่ต้องเข่นฆ่าอย่างสามานย์ออกมา

...ดั่งคำสาบของปีศาจร้าย..การแบ่งเขาแบ่งเรา..กัดกร่อนจิตใจของผู้เผชิญสงครามและชาวโลกโดยองค์รวมอย่างสิ้นท่า..มันคือความเลวร้ายที่ทำให้คุณค่า และ ความหมายในความเป็นมนุษย์ของเราหายไป “วุฒิชัย กฤษณะประการกิจ”..แปลและถอดความ..นัยยะที่เร้นลึกของหนังสือเล่มนี้ออกมาได้อย่างประณีต..มันคือถ้อยคำแห่งพลังของอารมณ์และความรู้สึกในทุกๆบทบาท..ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าหรือสิ้นค่าความหมายของชีวิต..รวมทั้งปรากฏการณ์แห่งโลกที่สิ้นหวัง..เปรียบเสมือนปรัชญาของการดำรงอยู่

ทั้งหมดในสิ่งทั้งหมด..เป็นบทเรียนซ้อนบทเรียนแห่งชีวิตของมนุษยชาติ..ทุกผู้ทุกคน. “ในโมงยามที่จิตวิญญาณสูญสลาย..ความทุกข์กัดกร่อนจิตใจจนหลงทาง..คุณจะค้นพบทางเดิน ความหวัง และ ความหมายของชีวิตได้..อีกครั้ง..”