เมื่อวันที่ 26 ต.ค.66 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Mana Nimitmongkol ระบุว่า...
9 เหตุผล: ทำไมพ่อค้า ‘ฟันราคาประมูล’ งานรัฐ
‘ฟันราคา’ คือกรณีที่เอกชนยื่นราคาต่ำผิดปรกติวิสัยเพื่อให้ชนะการประมูลงาน อย่างกรณีกำนันนกเสนอต่ำกว่าราคากลางถึง 37% - 40% พบว่ามีอย่างน้อย 9 เหตุผลที่พ่อค้าทำเช่นนี้
1. ทำเพื่อให้ได้งานไว้ก่อน แล้วค่อยหากำไรจากการลดสเปก เปลี่ยนแบบ ยกเลิกเนื้องานที่ขาดทุนหรือกำไรน้อย เพิ่มเนื้องานใหม่ที่กำไรเน้นๆ ในภายหลัง
2. รายใหญ่จงใจทุบราคาให้ผู้รับเหมาอื่นต้องวิ่งเข้าหาตนเพื่อเจรจาขอแบ่งงานหรือฮั้วงานในการประมูลครั้งต่อๆ ไป
3. วางแผน ‘ทิ้งงาน’ หลังจากเบิกเงินค่างวดเกินจริงได้แล้วจำนวนหนึ่ง
4. ใช้เป็นแหล่ง ‘ฟอกเงิน’ จึงไม่สนกำไรหรือขาดทุน
5. ร้อนเงิน ร้อนงาน จำเป็นต้องหางานเข้าบริษัทด่วน
6. กำจัดคู่แข่งไม่ให้ได้งานในพื้นที่หากินของตน
7. เกิดความผิดพลาด เช่น คิดต้นทุนผิด ดูแบบผิด พิมพ์ผิด ไม่รู้ทันว่าทีโออาร์ซ่อนเงื่อนปมไว้
8. ถ้าได้งานนั้นตนจะได้เลื่อนชั้นเป็นผู้รับเหมาเกรดสูงขึ้นในบัญชีผู้รับเหมาของกรมบัญชีกลาง มีโอกาสเข้าประมูลงานใหญ่ขึ้น คู่แข่งน้อยลง
9. กีดกันผู้รับเหมารายอื่นมิให้ได้งานมูลค่าสูงและเป็นเงื่อนไขได้เลื่อนเป็นผู้รับเหมา ‘ชั้นพิเศษ’ แล้วกลายมาเป็นคู่แข่งแย่งงานใหญ่ในอนาคต
มีสินค้าบางอย่างที่ผู้ซื้อจำต้องใช้บริการผู้ขายเดิมต่อเนื่อง เช่น บริษัทเสนอขายเครื่องพิมพ์พริ้นท์เตอร์ เครื่องละ 10 บาท แต่ฟันกำไรต่อเนื่องจากการขายหมึกพิมพ์ การขายอะไหล่หรือคิดค่าซ่อมบำรุงรักษาระยะยาวในราคาสูง ขายซอฟท์แวร์ราคาถูกเพราะรู้ว่าขายพ่วงฮาร์ดแวร์ได้ งานที่ต้องดูแลพัฒนาระบบและซื้อฮาร์ดแวร์เพิ่มตามการขยายจำนวนผู้ใช้ เป็นต้น
พฤติกรรมแบบนี้พบได้ทั่วไปแต่ผู้เขียนยังไม่พบว่า เกิดขึ้นกับงานก่อสร้างด้วยหรือไม่
ลูกเล่นของเอกชนบางรายคือ จงใจเสนอราคาแบบ Unbalanced Bidding คือเสนอราคารวมทั้งโครงการให้ต่ำ โดยกำหนดราคาต่อหน่วยแพงมากในรายการที่มั่นใจว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแบบหรือลดงาน เสนอราคาถูกมากในรายการที่คาดว่าจะลดปริมาณ ยกเลิกหรือเปลี่ยนแบบ
การฟันราคามักเกิดในอีบิดดิ้ง และผู้ฟันราคาต้องมั่นใจว่าตนสามารถเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐได้ ด้วยอิทธิพล เส้นสาย หรือสมรู้ร่วมคิดกับผู้มีอำนาจไว้ก่อนแลกกับการจ่ายเงินใต้โต๊ะ
โดยปรกติ (ไม่ฮั้ว ไม่ฟันราคา) การประมูลโครงการขนาดเล็กจะมีการแข่งขันลดราคาลงจากราคากลางแตกต่างกันแล้วแต่กรณีและขนาดโครงการ เช่น งานก่อสร้างอาคาร 5 – 10% งานสร้างถนน 5 - 15% งานโครงสร้างชลประทาน 10 - 20% งานขุดลอกสระ 20% ขึ้นไป
หากมองผิวเผินดูเหมือนการฟันราคาจะช่วยให้รัฐประหยัดเพราะจ่ายเงินน้อยลง แต่ในความเป็นจริงสร้างเสียหายมาก จากความล่าช้า งานด้อยคุณภาพ การทิ้งงานและคอร์รัปชัน นอกจากนี้ยังสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการที่ตรงไปตรงมา เท่ากับทำลายโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศเช่นกัน
มีข้อมูลน่าศึกษามากว่า การประมูลงานก่อสร้างและการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงปี พ.ศ. 2559 – 2560 มีการแข่งขันลดราคาที่ช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากมาตรการตรวจสอบและลงโทษอย่างเข้มงวดของรัฐบาลในช่วงนั้น
ที่สำคัญคือมีการกำหนดเงื่อนไขของโครงการที่จูงใจ เปิดกว้าง เปิดเผยและเป็นธรรม จึงมีเอกชนเข้าร่วมแข่งขันจำนวนมาก ซึ่งต่างจากช่วงปรกติที่เกิดการฮั้วกันจำนวนมากทำให้ได้งานไปโดยเฉือนราคาแค่ 0.001% จากราคากลางหรือวงเงินจัดซื้อที่ตั้งไว้
เรื่องนี้ช่วยยืนยันถึงประสิทธิภาพของระบบจัดซื้อฯ ตามกฎหมายและกรมบัญชีกลาง เป็นสัญญาณบวกทั้งด้านผลประโยชน์ของรัฐ ธุรกิจการค้าและคอร์รัปชัน ช่วยพิสูจน์ว่าผู้รับเหมาที่ดีมีอยู่จำนวนมาก
แต่ปีศาจที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเจ้าของโครงการและนักการเมืองที่คดโกงคอยอาศัยช่องโหว่ของระบบและอำนาจที่มี เพื่อกอบโกยให้ตนเองและพวกพ้อง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
26 ตุลาคม 2566