เมื่อ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ได้กำหนดแนวทางในอนาคตพุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นแหล่งประชุมที่ให้มูลค่าและคุณค่าสูง (High Value-Added Destination) และสร้างกลยุทธ์ใหม่ โดยผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านการใช้นวัตกรรม/ความคิดสร้างสรรค์และกระชับการทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน จึงทำให้เกิดแผนงานในการเป็นเรือธง เพื่อให้ทุกคนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องดังกล่าวมีแนวทางในการทำงานอย่างเป็นระบบ และชัดเจนมากขึ้น
สร้างความแตกต่างที่โดดเด่น
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า โดยแนวทางดังกล่าวจะสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นและคุณค่าให้แก่กิจกรรมไมซ์ที่จัดในประเทศไทย ซึ่งหวังว่าในอีกสิบปีข้างหน้า ภาพลักษณ์ไมซ์ไทยจะชัดเจนในฐานะแหล่งประชุมที่มีคุณค่าสูง เพิ่มบทบาทไทยในการกระตุ้นไมซ์ทั่วเอเซีย เป็น Springboard of ASIA's Growth ภาคธุรกิจมีความก้าวหน้า มั่นคง
ขณะที่ นางจารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายไมซ์อินเทลลิเจนซ์และนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์เพื่อตอบสนองความต้องการของนักเดินทางไมซ์ ว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ไทยจะต้องดำเนินธุรกิจอย่างยืดหยุ่น เพื่อสอดรับกับตัวแปรที่จะทำให้พฤติกรรมของนักเดินไมซ์เปลี่ยนแปลง คือ 1.ภาวะสงคราม 2.ภาวะโลกร้อน 3. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 4.ตลาดหรือกำลังซื้อของโลกยุคใหม่ที่ อยู่ในมือของ Gen Z มากขึ้น
โดยปัจจัยดังกล่าวทั้งหมดทำให้เกิดความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของความเป็นความจริง หรือที่เรียกว่า Authentic MICE กับผลลัพธ์ที่ดึงดูดให้เดินทางมาร่วมในอุตสาหกรรมไมซ์ ตั้งแต่ความเป็น เอ็กซ์คลูซีฟ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆ เมื่อเข้าร่วมงานไมซ์ในแต่ละประเภท เพื่อให้คุ้มค่า และได้ประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ นางจารุวรรณ กล่าวว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยจะอยู่ในมือของ Gen Z เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเพื่อจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวต้องมุ่งเน้นในเรื่อง 1.นวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น 2.การสร้างแบรนด์ไมซ์ 3.ลูกค้าสามารถคุยกับคู่ค้าโดยตรง 4.เพิ่มมูลค่าบนประสบการณ์ไมซ์ 5.ความเป็นภูมิภาค 6.แนวทางปฏิบัติสู่ความยั่งยืน ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน 7.การยืดหยุ่นเพื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว
ชู 6 โครงการใน 6เดือนทำทันที
ขณะที่ นางสาวกนกพร ดำรงกุล ผู้อำนยการ ฝ่ายตลาดไมซ์ในประเทศ (ดีไมซ์) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 สามารถสร้างมูลค่าไมซ์ในประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ถึง 101.5 แสนล้านบาท มีคนเดินทาง 17.4 ล้านคน จากตลาดการประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลสร้างรายได้ 100 ล้านบาท ตลาดการประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ สร้างรายได้กว่า 110 ล้านบาท และกลุ่มงานแสดงสินค้า สร้างรายได้รวมกว่า 46,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้เข้าระบบเศรษฐกิจ 38,000 ล้านบาท และเป็นยอดซื้อขายของคู่ค้า 8,000 ล้านบาท
ดังนั้นในปีงบประมาณ 2567 ทางทีเส็บจึงได้ทำแผน Quick Win 6 โครงการ ภายใน 6 เดือน ได้แก่ 1.ออกแบบการสนับสนุนให้ตอบสนองความต้องการแต่ละกลุ่มทั้งประชุมสัมมนา (Convention) และจัดงานแสดงสินค้า (Exhibition) 2.สร้างแชมเปี้ยนอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค ประเทศ และอินเตอร์เนชั่นแนล 3.ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) ด้วยแคมเปญยกทีมประชุมรุมรักเมืองไทย 4.สร้างประสบการณ์ใหม่ผ่านสินค้าและบริการเส้นทางไมซ์ใหม่ 7 Thems plus Soft Power Series 5.ปลดล็อกและอำนวยความสะดวกการจัดงานแสดงสินค้าเปิดเอ็กซิบิชั่น คลินิก 6.ขยายโอกาสยกระดับงานไมซ์ตาม Agenda Base โดยจะชูจุดขายไมซ์ในประเทศด้วย Authentic Prosper นำเสนอ เสน่ห์เมือง ทุนวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ วิถีชีวิต นิเวศเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้ไมซ์นำโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาในพื้นที่
ด้าน นายดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ ทีเส็บ กล่าวว่า ในส่วนของการแสดงสินค้านานาชาติ (Exhibition) ตั้งเป้านำรายได้เข้าประเทศ 19,561 ล้านบาท มีนักเดินทาง 296,383 คน จำนวน 145 งาน ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2566 ทำได้ 17,783 ล้านบาท มีนักเดินทาง269,439 คน จำนวน 132 งาน
กระชับการทำงานร่วมกับภาคี
อย่างไรก็ตาม นายอรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย หรือ Thai Organic Consumer Association (TOCA) ได้กล่าวถึงการพัฒนาเมืองไทยไปสู่การเป็นแหล่งประชุมที่ให้มูลค่าและคุณค่าสูง โดยผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านการใช้นวัตกรรม/ความคิดสร้างสรรค์และกระชับการทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนนั้น ในส่วนความรับผิดชอบของผู้ดำเนินการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ ผ่าน TOCA แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าที่สามารถบันทึกกิจกรรมจัดการขยะ รวมถึงการทำการตลาดด้วยระบบ Earth Points และสามารถเชื่อมโยงผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และศูนย์การประชุม บนแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้
ซึ่งในช่วงต้นปี 2567 ที่จะถึงนี้ในส่วนของ TOCA Platform จะจับมือกับ สมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ หรือ ทิก้า (TICA) เพื่อเข้าไปสร้างประโยชน์ให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกทั้งหมดของ ทิก้า สามารถบันทึกข้อมูลการซื้อสินค้าอินทรีย์ การนำมาคำนวณเป็นตัวเลขหรือวัดค่าผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์ เพื่อชตอบโจทย์นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และสำคัญที่สุด คือสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร สร้างความยั่งยืนในชุมชนนั้นเอง
ส่วน นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า การพุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นแหล่งประชุมที่ให้มูลค่าและคุณค่าสูง และสร้างกลยุทธ์ใหม่ โดยผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านการใช้นวัตกรรม/ความคิดสร้างสรรค์และกระชับการทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน นั้นจะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างในการทำงานร่วมกัน โดยมีกลยุทธ์ระดับชาติ เพื่อร่วมกันผลักดันงานในด้านต่างๆ ที่มีการคาบเกี่ยวทับซ้อนสามารถมาร่วมมือกันทำงานในการแข่งขันกับนานาประเทศ