นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทท. ได้จัดตั้งสถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ (Maritime Logistics Institute) หรือ MLI เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งรวบรวม พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์ระหว่าง กทท. และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน คู่ค้า ลูกค้า สายการเดินเรือ ฯลฯ เพื่อเป้าหมายในการสร้างประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการขนส่งสินค้าทางน้ำแบบครบวงจร สอดรับนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเสริมสร้างพัฒนา ศักยภาพให้แก่บุคลากรในด้านต่างๆ เช่น ด้านกฎหมาย ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านภาษา รวมทั้งทักษะความรู้โดยตรงที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน
สำหรับ MLI มุ่งมั่นที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นผู้นำอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางน้ำผ่านการพัฒนา องค์ความรู้จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการวิจัยแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ภายใต้อุดมการณ์ในการเพิ่มศักยภาพของประเทศด้วยการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถซึ่งจะมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
โดยตั้งเป้าหมาย 4 เรื่อง ประกอบด้วย การบ่มเพาะให้พนักงานมีวิทยฐานะ ศักยภาพสูง ด้วยการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร ปริญญาตรี ปริญญาโทร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ รวมถึงการเป็นผู้นำการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อก้าวสู่การเป็นสมาร์ทพอร์ต พร้อมทั้งเป็นผู้บุกเบิกด้านอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางน้ำ รวมทั้งการจัดการองค์ความรู้ ระบบความร่วมมือด้านการวิจัย ร่วมกับลูกค้า คู่ค้า สมาคม สถาบันวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการเป็นหน่วยทดลอง (Sandbox) การดำเนินการด้วยสภาพแวดล้อมเสมือนจริง โดยทุกเป้าหมายมุ่งพัฒนาศักยภาพของพนักงาน รวมทั้งสร้างรายได้ สร้างโอกาส ความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับ กทท.
“MLI เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางที่บุคลากรทุกภาคส่วนของด้านการขนส่งทางน้ำมารวมตัวกัน เพื่อร่วมศึกษาและวิจัยในหัวข้อที่สำคัญในการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ของประเทศ อาทิ โครงการสนับสนุนและส่งเสริมการขนส่งตู้สินค้าแบบถ่ายลำ (Transshipment) โครงการจัดตั้งเขตปลอดอากรของท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Free Zone) และโครงการส่งเสริมความร่วมมือในการบรรทุกขนถ่ายตู้สินค้าทางลำน้ำของท่าเรือกรุงเทพกับท่าเรืออนุญาตเอกชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (Super River Port Business Partnership) ซึ่งบทสรุปจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นการยอมรับซึ่งกันและกัน”
นอกจากนั้น กทท. ยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดโครงการที่ชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมของพนักงานโดยสานต่อให้สามารถปฎิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ โครงการ PAT Smart Monitoring โดยใช้ APP Sheet และ Google Workspace สร้างระบบติดตามและรายงานผลโครงการลงทุนของการท่าเรือฯ โครงการ THE NEXT PAT โดยใช้โปรแกรม VBA (Visual Basic for Applications) สร้างระบบการบันทึกข้อมูลปริมาณเรือ ตู้สินค้า และสินค้าของ กทท. และโครงการ PAT FIT ที่ปรับรูปแบบการนำเสนอข้อมูลในกระดาษมาสู่การพิจารณาผ่านจอแบบเรียลไทม์ ที่เข้าใจง่าย ครอบคลุมในหลากหลายมิติ ลดความเสี่ยงในการตัดสินใจ อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาเพื่อการยกระดับองค์กรในอนาคต โดยสถาบัน MLI จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน ต่อยอดให้เกิดผลสำเร็จต่อไป
ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ในคราวที่ท่านมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางมามอบนโยบายและตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของ กทท. และเป็นโอกาสที่ดีที่ท่านได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดสถาบัน MLI โดยท่านได้กล่าวชื่นชม กทท. ที่ก่อตั้งสถาบันส่งเสริมองค์ความรู้ของพนักงานถือได้ว่าเป็นรากฐานของการยกระดับศักยภาพขององค์กร รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการ บูรณาการร่วมกันระหว่าง กทท. และผู้ประกอบการทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน