วันที่ 25 ตุลาคม 2566 นายอำนาจ ปานเผือก รองประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

นายวิพุธ ศรีวะอุไร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางรัก ตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเร่งด่วน เนื่องจาก ทุกปีประชาชนได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยเฉพาะเขตบางบอน หนองแขม ปทุมวัน บางรัก บึงกุ่ม พบค่า AQI (Air Quality Index: ดัชนีคุณภาพอากาศ) สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ประชาชนมีความกังวลเรื่องการรับมือกับปัญหาดังกล่าวของกรุงเทพมหานคร จึงขอทราบแนวทางแก้ไขในระยะยาว และ มาตรการเร่งด่วนในการรับมือฝุ่น PM2.5

นายชัชชาติ กล่าวว่า ปีนี้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ จากเดิมจะเกิดขึ้นเดือน พ.ย. โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศปิด ไม่ถ่ายเท ในสภาวะปกติฝุ่น PM2.5 มาจากรถยนต์เป็นหลัก จะมีค่าไม่เกิน 30 มคก./ลบ.ม. หากมีสภาพอากาศปิดร่วมด้วยจะมีค่า 50-60 มคก./ลบ.ม. และ หากมีการเผาชีวมวลร่วมด้วยจะมีค่าถึง 90 มคก.ลบ.ม. ซึ่งหากวัดด้วยค่า AQI จะพบตัวเลขสูงถึง 200 AQI กทม.จะใช้หน่วยวัดเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เพื่อวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 โดยตรง ไม่ใช้หน่วยวัด AQI เนื่องจากเป็นหน่วยวัดคุณภาพอากาศโดยรวมซึ่งมีการวัดค่าก๊าซอื่นในอากาศรวมอยู่ด้วย เช่น PM10 ก๊าซโอโซน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น

นอกจากนี้ กทม.ได้รวบรวมแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ได้แก่ สถานประกอบการ/โรงงาน 324 แห่ง แบ่งเป็น โรงงานที่มีหม้อต้มไอน้ำ 111 แห่ง และอื่น ๆ 213 แห่ง โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ 116 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง 509 แห่ง สถานที่ถมดิน/ท่าทราย 18 แห่ง จุดความร้อนเสี่ยงไฟไหม้ 18 จุด ส่วนการตรวจรถควันดำ กทม.เน้นตรวจที่ต้นทางและปลายทาง เช่น อู่รถเมล์ สถานก่อสร้าง โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ หรือจุดเริ่มของรถบรรทุก ส่วนจุดการเผาส่วนใหญ่อยู่นอกพื้นที่กทม.แต่มีลมพัดเข้ามา ส่วนของกทม.จะมีการเผาจากเกษตรกรเขตฝั่งตะวันออก โดยจะมีการเฝ้าติดตามการเผา (ความร้อน) จากดาวเทียม หากพบ กทม.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแล

นายชัชชาติ กล่าวว่า มาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 365 วันของกทม. ประกอบด้วย การร่วมวิจัยกับ ม.เกษตรศาสตร์ ค้นหาต้นเหตุของฝุ่นเพื่อแก้ปัญหาตรงจุด การทำ Risk Map (เครื่องมือช่วยจัดการความเสี่ยง) เพื่อรวบรวมพื้นที่โรงงานต่าง ๆ การแจ้งเตือน 1 ครั้งต่อวัน การติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นกว่า 700 จุด โดยมีเป้าหมายเพิ่มให้ครบ 1,000 จุด รวมถึงมีแอพพลิเคชั่นทราฟฟี่ ฟองดูว์ แจ้งเหตุฝุ่น และเริ่มแนวคิดตั้งสภาลมหายใจร่วมกับภาคเอกชน

ส่วนแนวทางกำจัดต้นตอฝุ่น ประกอบด้วย ตรวจรถควันดำ สนับสนุนให้คนเดินเท้าลดการใช้รถยนต์ ส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า การแก้จุดฝืดจราจร การบริการรถ Feeder การตรวจคุณภาพอากาศเชิงรุกจุดเสี่ยง ควบคุมการเผาในที่โล่ง การสนับสนุนเครื่องอัดฟาง 3 คันแก่เกษตรกรเพื่อลดการเผาและนำฟางอัดก้อนไปขาย ส่วนแนวทางป้องกัน กทม.ฝึกให้นักเรียนในโรงเรียนชักธงบอกค่าฝุ่นในระดับต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุฝุ่น และนำไปบอกต่อครอบครัว รวมถึง การสร้างสวนสาธารณะ 15 นาที ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน โรงพยาบาล การสาธิตการสร้างเครื่องฟอกอากาศด้วยตัวเอง และการล้างถนนต่อเนื่อง

ส่วนแผนจัดการในระยะวิกฤต ในปีนี้ กทม.ปรับมาตรฐานค่าฝุ่นเพิ่มขึ้น โดยจะมีการแจ้งเตือนเมื่อฝุ่นถึงระดับสีส้มมีค่าไม่เกิน 37.6-75 มคก./ลบ.ม. รวมถึง การพัฒนาแอพพลิเคชั่น Air BKK สามารถพยากรณ์ฝุ่นล่วงหน้า 3 วันได้แม่นยำขึ้น และการตรวจรถควันดำสัปดาห์ละ 3 วัน การประสานกับตำรวจจราจรเรื่องจุดห้ามจอดรถ การลดจุดธูปเทียนบริเวณศาลเจ้า ห้ามเผาในที่โล่ง การป้องกันฝุ่นโดยเน้นที่โรงเรียน การแจกหน้ากากอนามัย การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลประชาชน และการตั้งคลินิกมลพิษทางอากาศ 7 แห่ง

นายชัชชาติ กล่าวว่า หากค่าฝุ่นถึงระดับสีแดง กทม.จะแจ้งเตือนทางไลน์ และประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ หยุดการก่อสร้างบางพื้นที่ สนับสนุนให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น มีเครือข่าย Work from Home กว่า 100 บริษัท มีพนักงานกว่า 40,000 คน ที่พร้อมให้ความร่วมมือกับกทม. เพื่อลดการจราจร รวมถึงมีการประสานทำฝนหลวงในพื้นที่ ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 ต.ค.65 - 24 ต.ค.66 กทม.ดำเนินการตรวจรถควันดำไปแล้ว 136,000 คัน ห้ามใช้ไปแล้วกว่า 2,000 คัน รถประจำทางกว่า 37,000 คัน ห้ามใช้ไปแล้ว 117 คัน รวมถึงตรวจรถบรรทุกและจุดความร้อนต่าง ๆ ร่วมด้วย

“บางเรื่องยังควบคุมไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น สภาพอากาศ การเผาจากพื้นที่นอกกทม. การควบคุมรถเข้าพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบเห็นการเผา สามารถแจ้งเหตุได้ หากมีการปรับจะมีการแบ่งเงินรางวัลให้ประชาชนด้วย นอกจากนี้ กทม.ได้ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งรัดแผนจัดการเรื่องฝุ่น รวมถึงร่วมมือกับรัฐบาลผลักดันเรื่องการใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร5 ซึ่งจะเริ่มใช้เดือนมกราคม 2567 เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันจะช่วยลดฝุ่นลงได้” นายชัชชาติ กล่าว