เมื่อวันที่ 24 ต.ค.66 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า คุณกิตติรัตน์กล่าวว่าเงินดิจิทัลจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหลุดพ้น “กับดักแห่งความเขลา” นั้น จะเป็น white lie ครั้งที่2 ไหมคะ!?

ดิฉันขอขอบคุณคุณกิตติรัตน์ที่ให้เกียรติและกรุณาให้ความสำคัญต่อบทความ และมาตอบโต้บทความที่ดิฉันเปรียบเงินดิจิทัลเป็น”เงินเลว” โดยดิฉันต้องการแสดงความเห็นในประเด็นหลักที่ว่า

“รัฐบาลจะเอาเงินดีๆจากประชาชนไปปนเงินเลวที่เสกจากในอากาศ หรือจากกล่องมายากลหรือไม่ และจะก่อปัญหากับเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ หรือไม่ และถามว่าโครงการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 โดยรัฐบาลต้องเสนอในกระบวนการงบประมาณต่อรัฐสภาหรือไม่ หรือจะหลีกเลี่ยงหาช่องลอดไปใช้พระราชกำหนดที่เป็นกฎหมายฝ่ายบริหารกู้เงินมาใช้ในโครงการนี้หรือไม่ ฯลฯ “

คุณกิตติรัตน์ยกคำว่า”เงินเลว (Bad Money)” เป็นคำที่ผู้บริหารการคลังของอังกฤษ คือ Sir Thomas Gresham ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1558 (พ.ศ.2101) แต่ความหมาย”เงินเลว” ของดิฉันน่าจะแตกต่างจากกฎของเกรแฮม Gresham’Law ที่ว่า “เงินเลวขับเงินดี” ในกฎของเกรแฮม มุ่งหมายให้รัฐบาลเอาเหรียญโลหะที่ผสมโลหะมูลค่าต่ำ แต่มีมูลค่าซื้อสินค้าในมูลค่าเท่ากันกับเหรียญโลหะสูงแบบทองคำ หรือเงินตามมูลค่าสินค้า การผสมเหรียญโลหะราคาต่ำ แต่ใช้ได้ตามกฎหมายในมูลค่าเดียวกันนั้นเพื่อให้เงินเลวขับเงินดี เพราะประชาชนจะเลือกใช้เหรียญโลหะผสม แต่จะเก็บเหรียญทองคำ เหรียญเงินเอาไว้ เมื่อประชาชนยอมใช้เงินจากเหรียญโลหะผสมมากขึ้นในตลาดทำให้เงินหมุนเวียน ย่อมลดการใช้เหรียญจากโลหะดีๆเช่น ทองคำ ได้ด้วย และรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องเอาโลหะมีค่ามาทำเหรียญกษาปณ์เพื่อมาหมุนเวียนในตลาด

แต่ในกรณีเงินดิจิทัล ที่ดิฉันเรียกว่าเป็น”เงินเลว”นั้น เพราะเป็นคูปอง หรือเงินในอากาศ ที่ต้องเอาเงินบาทที่มีมูลค่าใช้ได้ตามกฎหมาย 560,000 ล้านบาท ไปหนุนหลัง”เงินเลว”ที่ใช้ได้ในเวลา 6 เดือน มีข้อจำกัดการใช้มากมาย ใช้หนี้ไม่ได้ ใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันรถไม่ได้ ฯลฯและใช้ได้ในระยะทาง 4 กิโลเมตรโดยผูกกับรหัสไปรษณีย์ ยกต้วอย่างเช่นย่านปทุมวัน คนที่ได้รับเงินดิจิทัลจะเอาไปจับจ่ายในห้างใหญ่ๆได้ แต่ถ้าคนอยู่ในอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ระยะทางห่างตัวเมือง 247 กิโลเมตร หรืออำเภอปลายอ้อ ปลายแขม อื่นๆ จะซื้ออะไรได้บ้าง!? และที่ฟังว่าคนรับเงินดิจิทัลจะเอาไปแลกเงินบาทได้ใน6เดือนนั้น จะทำให้กระตุ้นการผลิตอย่างมากมายนั้น จะเป็นไปได้จริงหรือ !?

ที่สำคัญคือการคิดโครงการใหญ่ๆที่ใช้เงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 โดยรัฐบาลต้องเสนอในกระบวนการงบประมาณต่อรัฐสภา รัฐบาลจะทำหรือไม่? ยังมีหลายประเด็นที่ประชาชนเจ้าของภาษีสงสัย ทั้งเรื่องการขัดต่อวินัยการเงินการคลัง เรื่องที่ต้องไม่เอาเงินแผ่นดินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างความนิยมทางการเมือง หรือความสงสัยว่าเงินที่แจกเป็นคูปอง หรือเงินตราแบบคริปโทเคอร์เรนซี !?

ข้ออ้างของคุณกิตติรัตน์ที่ว่าคนที่ค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัลเป็นพวกไดโนเสาร์ทางการเงิน และยกตัวอย่างของฮ่องกงมากล่าวอ้างนั้น ดิฉันเห็นว่าเคสของฮ่องกงน่าจะมีความแตกต่างกับประเทศไทย และต่างจากนโยบายแจกเงินของคุณเศรษฐาอยู่นะคะ

ฮ่องกงแจกเงินโดยออกเป็นคูปองการใช้จ่าย (consumption voucher) แจกเป็นอิเลคทรอนิคส์ wallet แบบเป๋าตังค์ธรรมดาไม่ใช่เงินดิจิทัลที่ต้องไปลงทุนใช้ blockchain technology แบบพวกเงินคริปโทเคอเรนซี่ และคูปองที่ฮ่องกงแจกก็จะไปอยู่ในงบประมาณของประเทศไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับกฎหมายเงินตราหรือเงินดอลล่าร์ฮ่องกงแต่อย่างไร

ฮ่องกงแจกคูปองเพื่อการใช้จ่าย (consumption voucher) ให้ประชาชนด้วยเหตุผลหลักตั้งแต่ตอนที่มีการประท้วงกับประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ มีการจับพวกคนเห็นต่างทางการเมืองมากมาย จนประเทศอเมริกา ยุโรป อังกฤษบอยคอต เป็นเรื่องวิกฤตทางการเมืองที่ทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงตกต่ำ คนฮ่องกงจำนวนมากโดยเฉพาะคนรวยย้ายหนีออกนอกประเทศ เพราะไม่อยากอยู่ในประเทศคอมมิวนิสต์และคนจีนแผ่นดินใหญ่ก็เข้ามาตั้งรกรากกันเต็มเมือง

คนฮ่องกงจนลง ฮ่องกงไม่น่าอยู่อีกต่อไป คนต่างชาติในฮ่องกงย้ายฐานการเงินมาอยู่สิงคโปร์หมด ฮ่องกงเลยเดือดร้อนเรื่องนี้เป็นหลัก และในปี 2563 เกิดวิกฤตโควิด ฮ่องกงเลยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้คูปองใช้จ่ายกับประชาชน 10,000 เหรียญฮ่องกง จนล่าสุดปีนี้ผู้บริหารฮ่องกงบอกจะแจกอีก 5,000 เหรียญฮ่องกงเพราะเศรษฐกิจฮ่องกงยังอ่อนแอมากแต่เทียบแล้วคนฮ่องกงมีแค่ 7 ล้านคนและแจกให้คนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใช้เงินเทียบเคียงกับประเทศไทยแล้วเหมือนใช้เงินประมาณ 80,000 ล้านบาทในขณะที่ฮ่องกงมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทย จีดีพีต่อหัวประชากรสูงกว่าไทยเกือบ 10 เท่าและใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นจำนวนเงินน้อยกว่าไทยถึง 6 เท่า

ดิฉันยินดีรับฟังความคิดเห็นโดยสุจริตของคุณกิตติรัตน์แต่ก็ควรจะเปิดโอกาสให้นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ 100 กว่าคนที่ทำจดหมายหางว่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลรวมทั้งอดีตผู้ว่าแบงค์ชาติด้วย อย่าไปด้อยค่าคนเหล่านั้นว่าเป็นไดโนเสาร์ทางการเงินการคลัง หรือกล่าวหาพวกเขาว่าเป็นแค่เสียงเดียว รัฐบาลจึงปิดหูไม่ฟัง ดิฉันเห็นว่าคำคัดค้านที่มีเหตุมีผลเหมือนเป็นการชี้ขุมทรัพย์แม้เพียงเสียงเดียวก็สมควรรับฟัง

การที่คุณกิตติรัตน์กล่าวอ้างในกระทู้ที่เขียนในเฟซบุ๊คว่า “นโยบายนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการหลุดพ้น กับดักแห่งความเขลา ที่มักอ้างวินัยการเงิน เอาใจผู้ปล่อยกู้ให้โขกดอกเบี้ยสูงๆ (และยิ่งสูงขึ้น) ในภาวะ หนี้สาธารณะของรัฐบาล ต่ำกว่า หนี้ครัวเรือนท่วมประชาชน กำลังซื้อรอบแรกในรูป ดิจิทัล บาท จะสามารถส่งผลต่อเนื่องไปอีกหลายระลอก ธุรกิจจะเริ่มรอด; NPLจะเริ่มลด; คนจบใหม่จะเริ่มมีงานทำ ผู้คนจะมีความหวัง”

ดิฉันก็เกรงว่าคำพูดของคุณกิตติรัตน์จะเป็นการให้ความหวังที่สูงเกินจริงไปหรือเปล่า เพราะเงินแจกนั้นเอาไปจ่ายหนี้ไม่ได้ เอาไปจ่าย ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมันรถก็ไม่ได้ มีข้อห้ามอีกหลายประการ การหวังสูงถึงกับจะเป็นการทำให้ธุรกิจรอด NPL ลด คนจบใหม่มีงานทำนั้น ดิฉันกริ่งเกรงว่าจะกลายเป็น white lie รอบ2 หรือเปล่า ?? เป็นการให้ความหวังทางบวกที่เกินจริง หรือไม่??

แต่รอบนี้ต่างจาก white lie ครั้งแรกที่แค่ตั้งเป้าการส่งออก15% ที่สูงเกินจริงมากโดยไม่มีแผนปฏิบัติที่ดีรองรับ แต่สำหรับรอบนี้ ถ้าหวังสูงเกินจริง ประเทศไทยและคนไทยอาจจะสูญเงินถึง 560,000 ล้านบาทเลยทีเดียว ใช่หรือไม่

รสนา โตสิตระกูล
23 ตุลาคม 2566

 

#เงินดิจิทัลวอลเล็ต #เงินดิจิทัล #เศรษฐาทวีสิน #รสนาโตสิตระกูล