เมื่อวันที่ 24 ต.ค.66 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สมชัย ศรีสุทธิยากร ระบุว่า...
เรือปราบเรือดำน้ำ ใครดำน้ำ
7 มกราคม 2565 ผบ.ทร. พล.ร.อ. สมประสงค์ นิลสมัย ให้สัมภาษณ์ ยันไม่ซื้อเรือฟริเกต แทนเรือดำน้ำ เพราะเรือดำน้ำ ยังคงเป็นอาวุธยุทธศาสตร์ที่สำคัญ (มติชนออนไลน์ 7 มกราคม 2565)
21 กันยายน 2566 ผบ.ทร. พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ บอกทัพเรือ รับได้ เรื่องเรือดำน้ำ ใช้เครื่องจีน โดยบอกว่า อย่างไรเยอรมันเขาก็ไม่ขายเครื่องยนต์ให้จีนด้วยเหตุความมั่นคง ดังนั้น อนาคตเรือดำน้ำจีนทุกลำที่เขาใช้เอง และต่อขาย ก็จะใช้เครื่องจีน ปากีสถานซื้อ 8 ลำ ก็ใช้เครื่องจีน และจีนยอมขยายเวลาประกัน จาก 2 ปีเป็น 8 ปี (PPTV online 21 กันยายน 2566)
20 ตุลาคม 2566 สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ตรวจเยี่ยมกองทัพเรือ แถลงเลือกเรือฟริเกต ซึ่งรบได้ 3 ระบบ สามารถปราบเรือดำน้ำได้ ราคา 17,000 ล้าน แทนเรือดำน้ำ ในขณะที่ พล.ร.อ. อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ยืนยันว่า พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล (ข่าว ไทยพีบีเอส 20 ตุลาคม 2566)
ประชาชนอย่างเรา งง การตัดสินใจของกองทัพเรือและรัฐบาล
1. การเตรียมการเรื่องเรือดำน้ำ มีการจ่ายมัดจำไป 7,000 ล้าน มีการเตรียมการเรื่องอู่เทียบเรือ โรงซ่อมบำรุง คลังเก็บอุปกรณ์ประกอบ ส่งบุคลากรไปอบรม ฯลฯ รวมที่ใช้ไปแล้วอีกเกือบ 9,000 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นฟริเกต 9,000 ล้าน โยนทิ้งหรือ
2. เรือฟริเกตของไทย มี 5 ลำ จากความต้องการรวม 8 ลำ เป็นของจีน 4 ลำ เกาหลี 1 ลำ โดยลำสุดท้ายที่ซื้อ คือ เรือภูมิพล จากเกาหลี ราคา 15,000 ล้านบาท ส่วนราคาที่ รมว.สุทิน เปิดคือ 17,000 ล้านบาท มีการตั้งข้อสังเกตว่า ซื้ออะไร ทีไร ทำไมไทยต้องแพงกว่าเขา (สัมภาษณ์ บก. Thaiarmforce.com ไทยรัฐออนไลน์ 23 ตุลาคม 2566)
3. การผิดสัญญาของจีน ที่ไม่สามารถส่งมอบเรือดำน้ำตาม spec. ที่ตกลงกันแต่แรก กลับไม่มีการแสดงความรับผิดชอบจากจีน เช่น คืนเงินและชดใช้ค่าเสียหาย แต่กลายเป็นว่า ไทยต้องเป็นฝ่ายหาทางออกโดยเสนอเรือฟริเกตทดแทน พร้อมต้องจ่ายเงินเพิ่ม
4. หาก ทร. จะซื้อฟริเกต จะแลกกันง่าย ๆ ไม่ต้องมี spec. ไม่ต้องมีการเปรียบเทียบราคา ไม่ต้องดูเรือฟริเกตของประเทศอื่น เพื่อเลือกเรือที่มีสมรรถนะ เหมาะสม และ ใช้ร่วมกับกองเรือที่มีอยู่ เลยหรือ
สรุป ใครอยากได้ฟริเกตแทนเรือดำน้ำกันแน่ เป็น ทร. หรือ รัฐบาลเพื่อไทย คงต้องหาคำตอบให้ชัด และรับผิดชอบต่อเงินภาษีของประชาชนด้วย
สมชัย ศรีสุทธิยากร
อดีตกรรมาธิการงบประมาณ ปี 2566
24 ตุลาคม 2566