แบงก์ชาติเตือนภัยออนไลน์สารพัดรูปแบบ ระวังสูญเงินตกเป็นเหยื่อ เรียนรู้และสังเกตป้องกันก่อนถูกหลอก
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ออกคำเตือนประชาชนที่ใช้บริการทางการเงินบนอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆให้ระวังภัยที่มาจากออนไลน์ อาจทำให้เดือนร้อนโดยเฉพาะทรัพย์สินเงินทอง เพราะมิจฉาชีพอาจใช้เป็นช่องทางหรือเครื่องมือในการหลอกลวง ซึ่งทุกวันนี้คนไทยได้โอนเงิน ชำระเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้งด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการค่อนข้างมาก โดยวิธีสังเกตคือ สแกนเพื่อจ่ายเงินให้ทำผ่านแอปธนาคารและตรวจสอบชื่อปลายทางและจำนวนเงินให้ถูกต้อง นอกจากนี้หากสแกนเพื่อดูข้อมูลก็ต้องตรวจและสังเกตว่าเป็นเว็บไซต์จากหน่วยงาน หรือธนาคารที่เป็นทางการหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจอย่าคลิกต่อ
ปัจจุบันธนาคารที่มีโมบายแบงก์กิ้งแอปพลิเคชันจะให้ผู้ใช้งานที่จะโอนเงินมากกว่า 50,000 บาทต่อครั้ง และมากกว่า 2 แสนบาทต่อวัน ต้องสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นตัวเราที่ทำธุรกรรมนี้จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามิจฉาชีพได้แฝงจากการให้เหยื่อติดตั้งแอปฯและรีโมทสมาร์ตโฟนของเหยื่อทำการโอนเงินออก ซึ่งต้องตรวจสอบดูก่อนว่ารู้จักแอปนี้หรือไม่ แอปมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว
ขณะเดียวกันคนไทยได้ใช้โซเชียลมีเดียสูงเป็นอันดับต้นๆในภูมิภาค ทำให้มิจฉาชีพใช้ช่องทางเหล่านี้มาหลอกเหยื่อให้หลงเชื่อ โดยวิธีสังเกตบัญชีโซเชียลมีเดีย ให้ดูจากสัญลักษณ์โล่ห์ซึ่งแสดงถึงบัญชีอย่างเป็นทางการ,ชื่อบัญชีสะกดผิดหรือต่างจากของเล็กหรือไม่ , ดูระยะเวลาในการสร้างบัญชีว่านานแค่ไหน และมียอดติดตามหรือยอดกดติดตาม กดถูกใจน้อยลงหรือไม่ เพราะอาจเป็นบัญชีปลอมได้ สำหรับการส่งต่อข้อมูลออนไลน์ให้กับผู้อื่น ในบางครั้งอาจเป็นข้อมูลเท็จ หรือส่งลิงก์ปลอมให้ ซึ่งอาจเป็นช่องทางของมิจฉาชีพได้ ดังนั้นจึงต้องสังเกตให้ดีจาก ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างละเอียดผ่านกูเกิ้ล,ตรวจสอบว่าทำไมแหล่งที่มาจึงมีการส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลนี้ และตรวจสอบว่าแหล่งที่มาน่าเชื่อถือและมีความรู้เกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆหรือไม่ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้