ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยพบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้างเห็นจะเป็นปัญหาของ “มลพิษทางอากาศ” ไม่ว่าจะเป็นควัน หรือฝุ่นจิ๋ว PM2.5 และในปัจจุบันก็ยังไม่มีทางออกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนกว่าการจัดการที่ต้นตอของแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งอาจจะทำได้ยากในอดีต ทว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มากมายก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการลดการระบายมลพิษทางอากาศจากเครื่องมือหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

ตัวอย่างบทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยแก้หรือบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศพร้อมทั้งมีการประยุกต์ให้เข้ากันได้ในบริบทสังคมไทยมีใช้จริงแล้วมากมาย เช่น ธูปไฟฟ้าที่เข้ามาทดแทนการจุดธูปแบบเดิมที่มีเผาไหม้ เดิมเรามีการจุดธูปในบ้าน หรือในวัดอย่างแพร่หลาย ซึ่งก่อให้เกิดควัน และสารที่ออกมาจากควันนั้นเป็นสารอันตราย องค์ประกอบในควันธูปนั้นหลายตัวเป็นสารเดียวกันกับควันบุหรี่ โดยจากงานวิจัยของ Mannix และทีม [1] ระบุว่าฝุ่นที่เกิดจากการจุดธูปโดยเฉลี่ยเท่ากับ 45 mg/g (เปรียบเทียบกับ 10 mg/g ที่มาจากควันบุหรี่) อีกทั้ง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งหากสูดดมเข้าไปเป็นจำนวนมากทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนได้[2] หรือสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย เช่น อัลดีไฮด์ ฟอร์มัลดีไฮด์ และเบนซีนที่ล้วนแต่เป็นต้นเหตุของโรคและอาการที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น ทำให้เกิดการระคายเคืองแก่ระบบทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง

กรณีของรถยนต์ ซึ่งเป็นยานพาหนะที่หลีกเลี่ยงการใช้งานได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของประเทศไทยที่การขนส่งสาธารณะยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ และปัจจัยทางด้านราคายังไม่เอื้อให้ประชากรส่วนใหญ่หันมาใช้บริการมากนัก การนำรถไฟฟ้ามาใช้เพื่อลดปัญหาจากควันรถยนต์ก็ถือเป็นหนึ่งในการก้าวเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งมีงานวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ University of Southern California[3] ระบุว่า การใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้นมีความสัมพันธ์ในการลดมลพิษทางอากาศ และลดปัญหาโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะการเข้ารับการรักษาตัวจากโรคหอบหืด

กรณีที่ใกล้ตัวอีกกรณีหนึ่งเห็นจะเป็นเรื่องของการใช้ไม้ฟืน หรือการใช้เตาถ่านเพื่อการประกอบอาหารในบ้านเรือนหรือการขายอาหารริมทางเดิน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น ควันจากการเผาไม้ฟืนหรือถ่านที่มีเขม่าชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีทดแทน เช่น เตาแก๊ส เตาแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะลดการสร้างมลพิษทางอากาศแล้ว ยังช่วยควบคุมระดับความร้อนให้คงที่และเสถียรยิ่งขึ้นอีกด้วย ตัวอย่างการปรับเปลี่ยนนี้ ดูได้จากนโยบายทางการจัดการมลพิษทางอากาศของประเทศจีน ในปี 2556 ที่รัฐบาลจีน ได้ออกแผน Air Pollution Plan ระยะยาว 5 ปี  ที่มีข้อกำหนดบังคับใช้ และจำกัดการใช้ถ่านหินทั่วประเทศ โดยให้กรุงปักกิ่งมีการลดการใช้ถ่านหิน 50% (ภายในปี 2556-2561) เมืองเทียนจิน 19% นอกจากนี้ เมือง 26 แห่งได้ให้สัญญาว่าจะทำการเปลี่ยนระบบทำความร้อนมาใช้ไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติแทนการใช้ถ่านหินใน 4 ล้านครัวเรือน

ตัวอย่างสุดท้ายที่พบเห็นกันโดยทั่วไป คือ กรณีของการสูบบุหรี่ เป็นที่ทราบกันดีว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งในควันบุหรี่มีสารอันตรายต่างๆ อย่างเช่น อะซิทัลดีไฮด์ ฟอร์มัลดีไฮด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ที่มีผลกระทบทั้งต่อผู้ที่สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ในบริเวณใกล้เคียง ควันบุหรี่เป็นสาเหตุหนึ่งของมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาคารหรือพื้นที่ที่ไม่มีการระบายอากาศที่เพียงพอ การเลิกสูบบุหรี่ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถเลิกได้ การมองหานวัตกรรมที่มาทดแทนการก่อมลพิษจากการจุดบุหรี่ ก็มีความคล้ายคลึงกับตัวอย่างก่อนๆ คือ การไม่ทำให้เกิดการเผาไหม้ เช่น สนูส[4] บุหรี่แบบให้ความร้อน ซึ่งพอไม่เกิดการเผาไหม้จึงลดการเกิดสารมลพิษได้หลายชนิด อย่างไรก็ตามผลกระทบของบุหรี่แบบให้ความร้อน ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม[5]

โดยส่วนมาก มลพิษทางอากาศที่เกิดการกิจกรรมของมนุษย์ในชีวิตประจำวันจะเกิดการการเผาไหม้ ดังนั้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการเผาไหม้นั้น อาจเป็นทางเลือกที่สำคัญที่สามารถช่วยกันลดการสร้างมลพิษทางอากาศได้

 

 

[1] Physical characterization of incense aerosols - PubMed (nih.gov)

[2] ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ส่งผลร้ายต่อร่างกายได้อย่างไร? - รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)

[3] Study links adoption of electric vehicles with less air pollution and improved health | Keck School of Medicine of USC

[4] Chemical characterization of tobacco-free "modern" oral nicotine pouches and their position on the toxicant and risk continuums - PubMed (nih.gov)

[5] WHO, Heated tobacco products Summary of research and evidence of health impacts https://www.google.com/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=&cad=rja&u...