วันที่ 23 ต.ค.66 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "รสนา"ทำจดหมายเปิดผนึกถึงกกต. อีกฉบับเตือนให้ระวังรัฐบาลออกพรก.กู้เงินเพื่อทำโครงการแจกเงินดิจิทัลภายในไตรมาสแรกของปี 2567 เป็นการหลีกเลี่ยงการกำกับโดยรัฐสภาหรือไม่ เข้าข่ายเป็นการใช้นโยบายการคลังเพื่อสร้างความนิยมให้แก่พรรคการเมือง หรือไม่ โครงการดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นสัญญาว่าจะให้ในตอนหาเสียง แตกต่างจากที่ชี้แจงไว้กับกกต.นั้น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ จึงทำจดหมายเปิดผนึกถึงกกต. เป็นการแจ้งข้อมูลสำคัญต่อกกต.แล้ว
โดยในเนื้อความจดหมายที่ส่งถึงกกต.ระบุว่า ตามที่ข้าพเจ้าได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม2566 ร้องเรียนให้คณะกรรมการ ก.ก.ต. ร่วมกับองค์กรอิสระพิจารณาโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการชี้แนะและตักเตือนรัฐบาลกรณีที่มีความเห็นร่วมกันว่าโครงการดังกล่าวเสี่ยงต่อการทุจริตและอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศ นั้น
ข้าพเจ้าขอเรียนว่าคณะกรรมการ ก.ก.ต. จะเป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะโครงการดังกล่าวกำลังจะเปิดประเพณีการแข่งขันทางการเมืองใหม่ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง มีรายละเอียด ดังนี้
1.เป็นโครงการประชานิยมที่ไร้สถานการณ์
โครงการประชานิยมที่ผ่านมานั้น มักจะมีขอบเขตบางประการ เช่น ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุ ให้ความช่วยเหลือในยามเจ็บป่วย สนับสนุนการซื้อบ้านหลังแรก สนับสนุนการซื้อรถคันแรก เป็นต้น หรือจะเป็นโครงการที่จำเป็นยิ่งยวดเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น วิกฤตสถาบันการเงินปี 2540 วิกฤตน้ำท่วมปี 2554 วิกฤตโควิดที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศในปี 2563-2565 แต่โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น มิได้มีสถานการณ์วิกฤตยิ่งยวดทางเศรษฐกิจ มิใช่เพื่อช่วยเหลือคนที่เปราะบางในสังคม มิใช่เพื่อแก้ปัญหาสถาบันการเงินใด แต่เกิดขึ้นเพียงเนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินไว้ ในปี 2566 ร้อยละ 2.8 และในปี 2567 จะเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 4.4 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวไม่มีสภาวะวิกฤตใดๆ นั้น แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ รัฐบาลต้องการให้อัตราการขยายตัวในปี 2566 เพิ่มขึ้น เช่นเป็นร้อยละ 5
ดังนั้น โครงการทำนองนี้จึงเป็นโครงการประชานิยมที่ไร้สถานการณ์ ซึ่งถ้าคณะกรรมการ ก.ก.ต. อนุญาตให้เกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นการสร้างประเพณีทางการเมืองใหม่ที่อันตราย
2.เป็นโครงการที่ใช้เกื้อหนุนการหาเสียงได้
กรณีคณะกรรมการ ก.ก.ต. อนุญาตให้โครงการทำนองนี้เกิดขึ้นได้ รัฐบาลก็ย่อมจะสามารถออกโครงการซ้ำในห้วงเวลาใกล้หมดอายุก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อทำให้เศรษฐกิจบูมคึกคัก และช่วยเสริมคะแนนนิยมให้แก่พรรครัฐบาล อันจะเข้าข่ายเป็นการใช้นโยบายการคลังเพื่อสร้างความนิยมให้แก่พรรคการเมือง “ประการสำคัญ โครงการดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นสัญญาว่าจะให้ในตอนหาเสียงอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างร้ายแรงด้วย
3.เป็นโครงการที่นำไปสู่การแข่งขันทางการเมือง
กรณีคณะกรรมการ ก.ก.ต. อนุญาตให้โครงการทำนองนี้เกิดขึ้นได้ ในการเลือกตั้งในอนาคต พรรคการเมืองก็ย่อมสามารถแข่งขันกัน เช่น ขยายวงเงินแจกเป็นคนละ 1000,000 บาท หรือคนละ 500,000 บาท อันจะเป็นจุดเริ่มต้นพาประเทศสู่หายนะในฐานะการคลังดังเช่นเกิดขึ้นในบางประเทศในทวีปอเมริกาใต้
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะใช้วิธีออกพระราชกำหนดเพื่อกู้หนี้สาธารณะ เพื่อให้สามารถแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้ภายในไตรมาสแรกปี ๒๕๖๗ ซึ่งนอกจากจะเป็นการหลีกเลี่ยงการกำกับโดยรัฐสภาทั้งที่เป็นโครงการใหญ่อันดับหนึ่งของรัฐบาล ยังจะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา62 โดยไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง และการเปิดประเพณีโครงการประชานิยมที่ไร้สถานการณ์ก็จะยิ่งทำลายหลักการวินัยการเงินการคลังของชาติโดยสิ้นเชิงอีกด้วย
ข้าพเจ้าจึงขอร้องเรียนให้ท่านสั่งให้สำนักงาน ก.ก.ต. พิจารณาว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามที่ปรากฏรายละเอียดมากขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏชัดเจนว่า แหล่งเงินที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงต่อสำนักงาน ก.ก.ต. ว่าส่วนใหญ่จะมาจากงบประมาณ แต่บัดนี้มีแนวโน้มจะใช้วิธีกู้หนี้สาธารณะโดยออกเป็นพระราชกำหนด อันแตกต่างจากที่ชี้แจงไว้ นั้น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือไม่ โดยขอให้พิจารณากฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง มิใช่เฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และขอให้พิจารณารัฐธรรมนูญประกอบด้วย
ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือนี้ให้ปรากฏว่าข้าพเจ้าได้แจ้งข้อมูลสำคัญต่อท่านแล้ว
#เงินดิจิทัล #ดิจิทัลวอลเล็ต #กกต #รสนาโตสิตระกูล