นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ภายหลังรับความคิดเห็นจากการประชุมประชาคมคนพิการ สิ่งที่ กทม.ดำเนินการต่อจากนี้ คือ การร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิกระจกเงา และกลุ่มอื่น ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่ผู้พิการนำเสนอ ปัจจุบันอยู่ระหว่างวางแผนระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อกำหนดงบประมาณและดำเนินการต่อไป ทั้งนี้เรื่องที่ดำเนินการได้ในทันทีคือ การจ้างงานผู้พิการ กทม.ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ในการเป็นพี่เลี้ยงผู้พิการระยะแรก ฝึกอบรมทำความเข้าใจการทำงานระหว่างผู้พิการกับเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเขต รวมถึงเพื่อให้เขตกำหนดตำแหน่งงาน วางคุณสมบัติให้ตรงกับสภาพผู้พิการ ซึ่งต้องเกิดความพอใจสามารถทำงานได้ทั้งฝ่าย กทม.และฝ่ายผู้พิการ เนื่องจาก กทม.ต้องการให้ผู้พิการได้ใช้ศักยภาพในการทำงาน ปัจจุบันเริ่มนำร่องแล้วที่เขตบางขุนเทียนและเขตภาษีเจริญ คาดว่าจะพบข้อปรับปรุงและดำเนินการให้เหมาะสมภายใน 3-4 สัปดาห์จากนี้ ปัจจุบันกทม.ได้รับงบประมาณจ้างผู้พิการทำงาน 300 อัตรา โดยเฉลี่ยจ้างเขตละ 6 คน แต่ยังมีผู้พิการเข้าทำงานไม่ครบ เนื่องจากมีการเข้าทำงานและลาออกหมุนเวียนประมาณร้อยละ 20
นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จุดประสงค์นโยบายรับผู้พิการเข้าทำงาน ต้องการให้ผู้พิการออกสู่สังคม แต่กทม.ออกแบบงานเวิร์ค ฟอร์ม โฮมไว้สำหรับผู้พิการที่มีความจำเป็นด้านกายภาพและต้องการทำงานมีรายได้ เช่น เดินทางไม่ได้ ต้องมีคนช่วยตลอดเวลา ซึ่งอุปสรรคดังกล่าวอาจทำให้เสียโอกาสในการทำงานสร้างรายได้ไป กทม.จึงรองรับงานเวิร์ค ฟอร์ม โฮมสำหรับผู้พิการกลุ่มนี้ ส่วนผู้พิการกลุ่มอื่น ๆ กทม.ต้องการให้ออกสู่สังคม เพื่อจะได้รับทราบปัญหาด้านโครงสร้างของเมือง เช่น การเดินทาง ทางเท้า ห้องน้ำ หรือการขึ้นอาคาร กทม.จะได้ปรับปรุงให้เหมาะสมเพื่อให้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ดังนั้น จึงสนับสนุนให้ผู้พิการได้ออกมาใช้ชีวิตในสังคม ไม่เก็บตัวอยู่กับบ้าน นอกจากผู้พิการที่มีความรุนแรงจริง ๆ ซึ่งอุปสรรคที่พบในสังคมสามารถแจ้งเข้าระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ได้ เพราะเมืองต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอด
นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ด้านข้อเสนอจากผู้พิการที่ต้องการให้โรงเรียนสังกัด กทม.เป็นโรงเรียน ‘เรียนรวม’ หมายถึง ไม่มีห้องเรียนพิเศษสำหรับแยกเด็กพิเศษไปนั่งเรียนทั้งวัน ซึ่งหากมีห้องแยกเด็กพิเศษไปนั่งเรียนต่างหากเรียกว่า ‘เรียนร่วม’ แต่ในโรงเรียนเรียนรวมเด็กพิเศษสามารถนั่งเรียนรวมกับเด็กปกติในห้องเรียนอื่น ๆ ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการปรับปรุงโรงเรียนให้มีความพร้อมรองรับ ปัจจุบัน กทม.เปิดเรียนรวมแล้ว 158 แห่ง อยู่ระหว่างจัดฝึกอบรมครูเรื่องความรู้ความเข้าใจคนพิการ เพิ่มวิทยฐานะ เพื่อขยายให้ครบ 400 โรงเรียนในปี 2567 โดยสำนักการศึกษาได้รับงบประมาณจัดฝึกอบรมหลักสูตร 200 ชั่วโมงให้กับครูแต่ละรุ่นตามนโยบายให้ครูทุกคนเป็นครูการศึกษาพิเศษ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการอนุมัติหลักสูตร คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ กทม.ได้บรรจุข้าราชการครูพิการมาทำงานประมาณ 7 อัตรา เพื่อไปสอนในโรงเรียนสังกัดกทม. โดยภาพรวม กทม.จ้างผู้พิการทำงาน 3 ส่วน คือ 1.ที่สำนักงานเขตละ 6 อัตรา ปัจจุบันยังไม่ครบ 2.ข้าราชการสำนักต่าง ๆ 11 อัตรา ปัจจุบันรับแล้ว 9 อัตรา 3.ข้าราชการครูพิการประมาณ 7 อัตรา โดยสำนักการศึกษา