“สมศักดิ์” พบกรรมการกองทุนหมู่บ้าน 5 จังหวัดชายแดนใต้ สั่ง “กองทุนหมู่บ้าน-ศอ.บต.” จับมือพัฒนาพื้นที่ ให้ประชาชนหลุดพ้นความยากจน ให้การบ้าน ทำสถิติคนกู้เงินกองทุน รอด-ไม่รอด พร้อมดันเลี้ยงวัว-แพะ-ปู ขันน็อต ให้กรรมการกองทุน ต้องอ่านออกเขียนได้
วันที่ 21 ตุลาคม 2566 ที่โรงแรมคุ้มไทรงาม จังหวัดสงขลา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นพ.สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมรับฟังความเห็นคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และข้าราชการในจังหวัดให้การต้อนรับ
โดยนายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. และได้กำกับดูแลกองทุนหมู่บ้าน ทำให้วันนี้จำเป็นต้องเดินทางมา เพื่อนำทั้งสองหน่วยงานนี้ มาบูรณาการ ซึ่งมีเป้าหมายในการทำงานคือ การทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หมดหนี้ และหลุดพ้นจากความยากจน โดยเรื่องที่จะทำนั้น จะต้องไม่ยากและไม่ซับซ้อนให้โอกาสคนให้มากขึ้น ซึ่งจากการที่ตนลงพื้นที่ชายแดนใต้มา 3 วัน ได้เห็นอะไรต่างๆ ก็พบว่า การทำปศุสัตว์ ยังเป็นเรื่องที่ง่ายและสร้างโอกาสได้ เช่น การเลี้ยงวัว การเลี้ยงแพะ การเลี้ยงปูในลักษณะคอนโด โดยตนมองว่า เป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น จากนี้ไปกองทุนหมู่บ้าน จะต้องไปทำสถิติตัวเลขออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.บุคคลที่ได้รับเงินจากกองทุนหมู่บ้านแล้วประสบความสำเร็จไม่กลับมากู้อีก 2.บุคคลที่ยังกู้เงินอยู่ และ 3.บุคคลที่เสถียรภาพไม่ดี แล้วไม่ให้กู้เงินอีกแล้ว ซึ่งหากทำข้อมูลตรงนี้ได้ เราจะสามารถวิเคราะห์การติดตามส่งเสริมการพัฒนาได้ ตนจึงขอกำชับว่า ศอ.บต. และกองทุนหมู่บ้าน จะต้องลงพื้นที่ร่วมกัน เพื่อช่วยกันดูแลประชาชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
“ส่วนของกรรมการหมู่บ้าน อาจจะต้องมีการปรับและแก้ระเบียบ เพิ่มในส่วนของวุฒิการศึกษาเข้าไป อ่านออกเขียนได้ บวกลบคูณหารได้ดี เอาเข้ามาทำงาน จะเป็นประโยชน์ และบุคคลที่ต้องเข้ามาเป็นกรรมการนั้น ต้องใส่ใจชาวบ้าน คอยสอดส่องดูแล แต่วันนี้ก็ต้องขอบคุณกรรมการทุกท่าน ที่เหน็ดเหนื่อยกันมา แต่เราต้องทำและพัฒนาให้ดีที่สุด และสิ่งที่ทอดทิ้งไม่ได้ คือประชาชนที่ไม่สามารถจะกู้เงินได้แล้ว กองทุนหมู่บ้าน ต้องดึงมือเขาขึ้นมาให้โอกาส ให้อาชีพง่ายๆ เช่นการเลี้ยงวัว เป็นต้น” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการพูดคุยกันถึงนกกรงหัวจุก ซึ่งนายสมศักดิ์ ก็ได้สั่งการให้ ศอ.บต. พร้อมปศุสัตว์จังหวัด ทำกรอบข้อเสนอต่างๆขึ้นมาว่า จะทำอย่างไรได้บ้าง เพราะนกกรงดีๆสายพันธุ์ดีเสียงเพราะ บางตัวมีราคาถึง 5 แสนบาท โดยถือว่า เป็นโอกาสและเป็นอีก 1 อาชีพได้เลย ดังนั้น ลองหาท่าทีว่า จะเดินกันอย่างไร แม้วันนี้อาจจะเลี้ยงได้อย่างถูกต้อง แต่ก็ต้องขออนุญาต ซึ่งตนเห็นว่า อะไรที่เป็นรายได้ให้กับประชาชนได้ ก็ควรเดินหน้าทำไป
ขณะที่ นายสมนึก กล่าวว่า ตลาดกองทุนหมู่บ้าน จากประสบการณ์ตั้งแต่เป็นปลัดอำเภอ ชาวบ้านมักจะมองว่า เงินกองทุนเหล่านี้ เป็นเงินที่ได้จากรัฐบาลฟรี ดังนั้น การทำงานจากนี้ ควรจะต้องมีการปรับความเข้าใจกัน ระหว่างประชาชนผู้รับเงินจากกองทุนหมู่บ้าน ให้เข้าใจในบริบทของเงิน รวมถึงระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ และถ้าหากเป็นอย่างนั้นได้ การปรับคณะกรรมการที่เหมาะสมขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งตนในส่วนของจังหวัด ก็จะทำอย่างเต็มที่
ด้านนายเบญจพล กล่าวว่า 5 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีสตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีกองทุนหมู่บ้าน 3,072 ทุน ที่ผ่านมาเราสนับสนุนทุกอย่างอย่างเต็มที่ แต่ต้องยอมรับว่า มีปัญหาบ้าง เนื่องจากกรรมการกองทุนบางท่าน อาจจะไม่ทราบปัญหาและไม่รู้ระเบียบ รวมถึงกรรมการบางคนนั้น การอ่านออกเขียนได้ยังไม่ดีพอ เราก็พยายามสนับสนุน ปรับปรุง และดูแลกันอย่างเต็มที่ ซึ่งจากนี้ ก็คงจะต้องทำงานร่วมกับ ศอ.บต.ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ตามแนวทางที่รองนายกฯได้กำหนดไว้
ทั้งนี้ กลุ่มกรรมการหมู่บ้าน ที่ได้เข้าร่วมประชุม ยังได้ร้องขอให้ให้มีการปรับและสนับสนุนในเรื่องของเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการผลิต และการสนับสนุนการให้ความรู้ ซึ่งถือเป็นอีกจุดหนึ่ง ที่อยากให้กองทุนหมู่บ้านเข้ามาสนับสนุนอีกครั้งหนึ่ง