จากกรณีที่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้รับประสาน จากบริษัทจัดการศพของอิสราเอล ว่า สถาบันนิติเวช ของ อิสราเอล อนุญาตให้นำร่างของคนไทยที่เสียชีวิต จำนวน 8 ราย ออกจากสถาบันนิติเวช ซึ่งสถานทูตจะส่งร่างพี่น้องแรงงานไทยชุดแรกดังกล่าว กลับประเทศไทย ด้วยสายการบิน El Al เที่ยวบินที่ LY083 ออกจาก อิสราเอลใน วันที่ 19 ตุลาคม 2566 เวลา 20.00 น. และ ถึง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 เวลา 08.50 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนไทย ทั้ง 8 คน ประกอบด้วยได้แก่ 1.นายพงษธร 2.นายพิชิต 3.นายชัยรัตน์ 4.นายอานันต์ 5.นายพงษ์พัฒน์ 6.นายอนุชา7.นายพงษ์เทพ 8.นายธนกฤจฒ์ ปรากฎวงษ์คือ ผู้เสียชีวิตในวันแรกของการโจมตี แต่จนถึงตอนนี้ แรงงานไทยสูญเสียชีวิตจากเหตุสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอลแล้ว 30 คน ซึ่งทุกศพจะต้องได้รับการตรวจพิสูจน์ยืนยันอัตลักษณ์จากทางการอิสราเอลก่อน ถึงจะส่งกลับไทยได้ เพราะว่าทางการอิสราเอลมีเงินชดเชยให้กับญาติผู้เสียชีวิตที่เดินทางไปทำงานอย่างถูกกฎหมายทุกคน โดยมีเงินช่วยเหลือ 80,000 บาท เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 40,000 บาท ช่วยค่าทำศพอีก 40,000 บาท และ จะให้เงินช่วยเหลือครอบครัว 36,000 บาททุกเดือน
ในส่วนกรณีเป็นภรรยาก็จะให้จนกว่าจะแต่งงานใหม่ ส่วนลูกก็จะได้เงินช่วยเหลือเดือนละ 6,000-12,000 บาท จนกว่าจะอายุครบ 18 ปี ด้วยเงินช่วยเหลือจำนวนนี้ทำให้ทางการอิสราเอลเองก็ต้องแน่ใจในอัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้รถตู้ของ บริษัท สุริยา ฟิวเนอรัล จำกัด (สุริยาหีบศพคลองหลวง) และเอกชน มาจอดเตรียมรอเข้าไปรับร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 8 ราย โดยภายในรถมีหีบโรงศพอยู่ โดยมี นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรับร่างของผู้ที่เสียชีวิต ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายร่างแรงงานทั้งหมดกลับภูมิลำเนา
ด้าน นายวิเชียร บุญช่วย หัวหน้าทีมลำเลียงศพ เปิดเผยว่ากระทรวงการต่างประเทศมีการประสานงานกับสถานทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟประเทศอิสราเอล ให้รับศพแรงไทยทั้ง 8 ร่าง ที่จะส่งกลับมาประเทศไทย ทางสุริยาหีบศพ จึงได้เป็นตัวแทนในการนำร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 8 ร่าง โดยเตรียมหีบศพสำหรับเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิตมาด้วย และจะส่งไปยังภูมิลำเนาเพื่อให้ญาตินำร่างไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยมีขั้นตอนการลำเลียงศพกระจายไปยังภูมิลำเนา 1 คัน ต่อ 1 ศพ แต่จะมีอีก1คัน เป็นพี่น้องกัน ไปส่งที่จังหวัดขอนแก่น 2 ศพ ครบทุกคัน และมีเจ้าหน้าที่สแตนบายรอรับ เมื่อศพมาถึงกระจะมีการกระจายไปในทันที ซึ่งโดยปกติแล้วที่ผ่านมาสุริยาหีบศพก็มีการช่วยเหลือเคสแบบนี้มาตลอด และครั้งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษที่จะส่งร่างทั้ง 8 ศพโดยไม่มีญาติมารอรับ ขณะเดียวกันตนเองก็ขอแสดงความเสียใจกับทางครอบครัวผู้เสียชีวิตและตนก็รู้สึกภูมิใจในการทำหน้าที่ครั้งนี้ หลังจากที่รอคอยอย่างมีความหวัง
ขณะที่นางวงเดือน อายุ 42 ปี น้าของนายอานันต์ เผยว่า ทางญาติเดินทางไปทำงานเกี่ยวกับการเกษตรหลายคน ซึ่งทุกคนก็ไม่เคยเจอกับอย่างเหตุการณ์นี้ก็เลยกล้าไป ก็ไปทำงานหาเงินตามปกติ ซึ่งอยู่บ้านเราก็ไม่ได้เงินเท่าบ้านเขา ส่วน น้อง ก็ไปทำอยู่กับการเกษตรอยู่ในฟาร์ม คือ สงครามมันเกิดประจำ แต่ครั้งนี้มันเป็นข่าว เราเริ่มติดต่อหาคนของเราตั้งแต่วันที่ 7 ซึ่ง วันที่ 7 แม่ เขาก็โทรติดต่อหาลูกสะใภ้ว่าติดต่อหาน้องได้ไหม ก็ ยังบอกว่ายังคุยกันอยู่เลยตอน 6 โมงเช้ายังติดต่อได้ แต่ตอนในช่วงสาย ๆ ก็ไม่สามารถติดต่อได้แล้ว แต่ก็หาทางติดต่อทุกทาง ก็ทำทุกอย่างที่ทำได้ หาทุกทางจนท้อว่าคนของเราน่าจะสูญหาย ก่อนที่ทางการจะส่งข่าวมาว่าเจอแล้วเป็นศพแล้ว
ส่วน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยว่า วันนี้ร่างแรงงานทั้ง 8 ราย มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ ต้องใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง กว่าที่จะผ่านพิธีการของทางศุลกากร หลังจากนั้นเวลา 11.00 น ก็จะมีพิธีกรรมทางศาสนา ที่จะมีการวางพวงหรีดของ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ของ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายร่างกลับสู่ภูมิลำเนา หลังจากที่ร่างแรงงานถึงภูมิลำเนาแล้ว จะให้ 5 เสือแรงงานลงพื้นที่ไปหาทางครอบครัวแรงงาน เพื่อชี้แจงสิทธิ์ที่ควรได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ และ ของอิสราเอลด้วย โดยกรณีเป็น ภรรยา จะได้เงินช่วยเหลือ เดือนละ 40,000 บาท จนกว่าจะแต่งงานใหม่ ส่วนลูกก็จะได้เงินช่วยเหลือเดือนละ 6,000-12,000 บาท จนกว่าจะอายุครบ 18 ปี ส่วนเรื่องการพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตก็น่าจะไม่เป็นปัญหา เนื่องจากได้มีการพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตผ่านทางสถานฑูตไทยอยู่แล้ว