ถือเป็นประวัติการณ์ ของกองทัพไทยในยุคการเปลี่ยนผ่านทั้งเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกฯ เปลี่ยน รมว.กลาโหม เปลี่ยนผู้บัญชาการเหล่าทัพ จึงได้เวลาจัดเตรียมโทรโข่ง ทีมพีอาร์ ประชาสัมพันธ์ ทีมโฆษกใหม่ โดยแต่งตั้งกันแบบจัดเต็ม ไม่ยั้งรวมแล้วครึ่งกองร้อย จนหยอกแซวกันว่ารวมกันแล้วตั้งเป็นกองร้อยโฆษกได้เลย  ทีมโฆษกกลาโหม 6 คน  กองทัพไทย 12 คน  ทบ.7 คน  ทร.4 และ ทอ. 9  รวม 38 คน

ในส่วนของกระทรวงกลาโหมในยุค “บิ๊กทิน” สุทิน คลังแสง  รมว.กลาโหมพลเรือน ร่วมกับ “บิ๊กหนุ่ม” พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ในการคัดเลือกทีมงานโฆษกกลาโหม ที่สุดก็ตั้งมาถึง 6 คน และเป็นครั้งแรกที่โฆษกกระทรวงกลาโหมเป็นทหารเรือ เป็นนายพลเรือ  “เสธ.โต” พล.ร.ต. ธนิตพงศ์ สิริเศวตศักดิ์ เป็นโฆษกกระทรวงกลาโหม

โดยในทีมมีทั้ง 3 เหล่าทัพ บก-เรือ-อากาศ   ให้สมกับที่เป็นทีมโฆษกกระทรวงกลาโหม มี “ผู้พันหนูเล็ก” พ.อ.หญิง ดังใจ สุวรรณกิตติ รองโฆษกกระทรวงกลาโหม และผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม 3 คน “ผู้พันมะเหมี่ยว” พ.ท.หญิง พัชรี สันทาลุนัย นาวาอากาศโทหญิง จิตติมา มาลารัตน์ ร.อ.หญิง ณฐมน กุญชร และมี พล.ต.แรงภูมิ เหมะทัพพะ เป็นหัวหน้าสำนักงานโมษกกระทรวงกลาโหม

ส่วนใหญ่ทาง ปลัดกลาโหม คัดเลือกมา ส่วน ผู้พันมะเหมี่ยว นั้นรู้จัก สุทิน มาก่อน เพราะอยู่กองทัพภาค 2 ที่อีสานเคยเป็นผู้ช่วยโฆษกของทีมโฆษกกองทัพภาค 2 มาก่อน โดยสุทินให้นโยบายว่าต้องทำให้ประชาชนกลับมารักทหารรักกองทัพ ส่วนคนที่รักอยู่แล้วก็ให้รักมากขึ้น

ขณะที่กองบัญชาการทหารสูงสุดมีการตั้งทีมโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทยมากที่สุดคือ 12 คน นำทีมโดย “เจ้ากรมปริ้นซ์” พล.ท.ธีระพงษ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร แต่ไม่ได้มี แค่นายทหารสัญญาบัตร แต่มีทหารชั้นประทวนร่วมทีมด้วย

โดยมี “ผู้พันเบิร์ด” พล.ต.วันชนะ สวัสดี เป็นรองโฆษกฯ และเป็นหัวหน้าทีมโซเชียลมีเดีย  เพราะนโยบายของ “บิ๊กอ๊อบ” พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้เน้นที่สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย จึงมีนโยบายให้ใช้ อินฟลูเอนเซอร์ทหาร  แม้บางคนอาจจะไม่ใช่คนดัง  มีผู้ติดตามจำนวนไม่มาก แต่ก็ให้นำเสนอเรื่องราวของกองทัพในรูปแบบของแต่ละคนสอดแทรก ไปแบบเนียนๆ

รวมถึงภารกิจของ พล.อ.ทรงวิทย์ ในแต่ละวันที่จะออกทางโซเชียลมีเดีย มากกว่าทางสื่อหลักเพราะทีมงานโฆษกกองทัพไทยจะไม่ได้ส่งข่าว พล.อ.ทรงวิทย์ ให้นักข่าวทุกข่าว แต่จะเลือกส่งเฉพาะที่เป็นภารกิจหลักส่วนภารกิจอื่นๆก็จะออกในโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ TikTok ของทีมอินฟลูเอนเซอร์ทหาร ที่มีทั้ง ทหารชายและทหารหญิง

ดังนั้นนอกจากมีทีมโฆษก 12 คนแล้วยังมีกองทัพอินฟลูเอนเซอร์ทหารที่มีมากกว่า 40 คนร่วมปฏิบัติการด้วย พล.อ.ทรงวิทย์ เป็นนายทหารยุคใหม่ที่เปิดกว้างและให้ความสำคัญกับการเข้าถึงประชาชนในรูปแบบใหม่ เพราะการแถลงโดยทีมโฆษก ก็จำเป็นในเรื่องข้อเท็จจริง แต่ในแง่การเข้าถึงแล้วต้องใช้รูปแบบโซเชียลมีเดีย

โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย มากที่สุด 12 คน มี พล.ต.นเรศฐากูล  โกรา น.อ.สุรสันต์  คงสิริ เป็น รองโฆษกฯ

“เสธ.โน้ต” น.อ.อ.จงเจต  วัชรานันท์ ทหารดารา เป็นรองโฆษกฯ พันเอกหญิง พัชรินทร์ สุนทรวรรณ พันโทหญิง ทัศนีย์  อุ่นเจริญ เป็น รองโฆษก ร้อยเอกหญิง อุรัสยา ศิลปาจารย์  ร้อยเอกหญิง ณัฏฐ์อัญ ชูแสง  ร้อยโท เอกพล ดีบุญมี ณ ชุมแพ

พันจ่าอากาศเอกหญิง เสาวลักษณ์  คำหวาน พันจ่าอากาศเอก ชวลิต  เรืองรุจิระ เป็น ผู้ช่วยโฆษก

ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ภารกิจที่สำคัญของกองบัญชาการกองทัพไทยในทุกด้าน รวมถึงแถลงข่าว ภารกิจหรือกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ไปยังประชาชน และสื่อมวลชนทุกแขนง ด้วยความฉับไว ถูกต้อง รวดเร็ว ครอบคลุมทุกมิติ โดยเน้นการนำเสนอข้อมูลครบถ้วนทุกมุมมอง เพื่อเข้าถึงทุกกลุ่มเจเนอเรชัน

ขณะที่กองทัพบกตั้งโฆษก 7 นายนำโดย เจ้ากรมเอก พลโทอานุภาพ ศิริมณฑล เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก ที่ควบตำแหน่งโฆษกกองทัพบกด้วยตนเอง โดยขยับผู้พันนิ่ม พลตรีหญิงศิริ จันทร์ งาทอง ที่เป็นรองโฆษกกองทัพบกหลายสมัยไปเป็นที่ปรึกษาทีมโฆษก  เนื่องจากพลตรีหญิงศิริจันทร์ มีตำแหน่งหน้าที่หลักคือ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลทหารบก

จึงทำให้นายทหารที่เคยเป็นทีมงานของ พลตรีหญิงศิริจันทร์ ก็พ้นหน้าที่ในทีมโฆษกกองทัพบก ชุดใหม่นี้ไปด้วย คงเหลือเพียงแค่ ผู้พันวี พ.ท.หญิง ปวีณา ศรีบัวชุม เป็น ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบกเท่านั้น และมี “เสธ.เป๊ก” พ.อ. ฐิต์รัชช์ สมบัติศิริ เป็นรองโฆษกกองทัพบก  เสธ.มิว พ.อ.ริชฌา สุขสุวานนท์ เป็น รองโฆษกกองทัพบก ผู้พันโอ๋ พ.ต.หญิง ญดา โชติชูตระกูล  ผู้กองแป้ง ร.อ.หญิง กัญญ์ณณัฐ พรนิพัทธ์กุล และ ผู้กองปิ่น ร.อ.หญิง จุฑาพัชร เปรมบัญญัติ  เป็น ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก

            โดยจะเน้นการชี้แจงที่รวดเร็วกระชับทันเวลาไม่ต้องรอข้ามวันข้ามคืนโดย พลโทอานุภาพ จะสามารถตัดสินใจได้เลยเพราะรับนโยบายจาก “บิ๊กต่อ” พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบกมาแล้วด้วย เพราะสไตล์ของ พล.อ.เจริญชัย เป็นทหารที่ไม่ค่อยชอบออกสื่อ ไม่ค่อยชอบพูดแต่ก็ยังคงความสัมพันธ์กับสื่อได้เป็นอย่างดีด้วยการให้สัมภาษณ์บ้างเล็กๆน้อยๆ เพราะก็มีความคุ้นเคยกับนักข่าวสายทหารมายาวนาน

ขณะที่กองทัพเรือ มีทีมโฆษกน้อยที่สุดคือ 4 คนนำทีมโดย “เลขาฯโต้ง” พล.ร.ต.วิรุดม ม่วงจีน เลขานุการกองทัพเรือ ทำหน้าที่โฆษกเอง ซึ่งแตกต่างจากเหล่าทัพอื่นที่จะให้เจ้ากรมกิจการพลเรือน (กร.) ทำหน้าที่โฆษก พล.ร.ต.ปารัช รัตนไชยพันธ์

โดยมีผู้ช่วยโฆษก อยู่ในส่วนประชาสัมพันธ์และเป็นคนหน้าเดิม เช่น แพทย์จีนหญิง ปรียาดา บัวสมบุญ และเพิ่มเติมมา คือน้องนินย่า ว่าที่ ร.ต.หญิง นภัสกร  ทิพย์โส ที่เป็นพิธีกรภาคสนามของเพจกองทัพเรือ เพราะถึงอย่างไร “บิ๊กดุง” พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ก็เป็นคนที่สื่อมวลชนเข้าถึงได้ทาง LINE และโทรศัพท์มือถืออยู่แล้วจึงสามารถที่จะสัมภาษณ์ได้โดยตรง

ขณะที่กองทัพอากาศตั้งทีมโฆษกทั้งหมด 9 คนที่แตกต่าง คือ เจ้ากรมโก๋ พลอากาศโทประภาส  สอนใจดี เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ไม่ได้ทำหน้าที่โฆษกกองทัพอากาศเอง แม้ที่ผ่านมาจะเคยเป็นโฆษกกองทัพอากาศก็ตาม แต่ต้องการมาดูในแง่ยุทธศาสตร์นโยบายอยู่เบื้องหลังทีมโฆษกมากกว่า จึงให้ อาจารย์อัน พลอากาศตรีบุญเลิศ อันดารา รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศฯ ทำหน้าที่โฆษก กองทัพอากาศต่ออีกสมัยหนึ่ง

เนื่องจากกองทัพอากาศมักจะต้องชี้แจงในเรื่องอาวุธยุทธโทรปกรณ์การจัดซื้อเครื่องบินต่างๆจึงทำให้ในทีมโฆษกกองทัพอากาศจึงมีนายทหาร สายยุทธการอย่าง “เสธ.แจ๊ค” พลอากาศตรีจักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย รองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ มาทำหน้าที่รองโฆษก ด้วยตนเองเพราะถือเป็นคนเก่งของกองทัพอากาศ ขณะที่ก็มีสายบู๊อย่าง “เสธ. เติร์ด” นาวาอากาศเอกวุฒิกร สุวารี เสนาธิการศูนย์ทหารอากาศโยธิน อดีตผู้บังคับการกรมปฏิบัติการพิเศษอากาศโยธิน ที่มาเป็นผู้ช่วยโฆษก เพื่อที่จะชี้แจงในกรณีที่เกิดปัญหาในสายบู๊ “เสธ.ปู” นาวาอากาศเอก วีรชน นรานุต ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ เป็นรองโฆษกทอ.

และ ผู้ช่วยโฆษกกองทัพอากาศ อีก 5 คน  คือ นาวาอากาศเอก สุรินท์นาท เจริญจิตต์  จาก กรมแพทย์ทหารอากาศ, นาวาอากาศโท ณัฐนัย จันทร์เปล่ง จากกรมยุทธการทหารอากาศ, นาวาอากาศตรีหญิง ปพิชญา รำพึงกิจ จาก  กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ, นาวาอากาศตรีหญิง ศวลี เปล่งวิทยา จาก กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ, เรืออากาศเอกหญิง วัชรีภรณ์ สร้อยทอง นายทหารกิจการทูตทหารและศึกษาต่างประเทศ  กรมข่าวทหารอากาศ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้แต่ละเหล่าทัพตั้งทีมโฆษกจำนวนมาก เช่นนี้ก็เพราะในห้วง 9 ปีที่ผ่านมาในยุค “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการรัฐประหารเรื่อยมา กองทัพตกเป็นเป้าหมายสำคัญในการถูกโจมตีในทางการเมือง จากกลุ่มต่อต้าน อีกทั้งภารกิจสำคัญของกองทัพคือการปกป้องสถาบันฯ  จึงทำให้กลายเป็น คู่ขัดแย้งกับกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปด้วย และบทเรียนจากการเลือกตั้งที่โซเชียลมีเดีย มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนและการเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าจึงทำให้กองทัพต้องปรับแผนมาใช้โซเชียลมีเดีย มากขึ้น นั้นเอง

มีรายงานว่า พล.อ.ทรงวิทย์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีแนวคิดที่ว่าต้องเข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด แม้ว่าบางเรื่องอาจจะถูกโจมตี ถูกตำหนิ แต่เมื่อประเมินแล้วว่าผลดีมากกว่า ก็สามารถนำเสนอได้  จึงทำให้ทีมงานโฆษกมีความคล่องตัวและเปิดกว้างในการทำงานมากขึ้น

รอดูว่ากองทัพโฆษก กองทัพทหารอินฟลูเอนเซอร์ จะชนะศึก โซเชียลฯ หรือไม่