วันที่ 20 ตุลาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.ร่วมกับพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้

 

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ค่าฝุ่นในปัจจุบันมี 2 ปัจจัย คือ 1.ควบคุมได้ หมายถึงแหล่งกำเนิดฝุ่นที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เช่นการจราจร โรงงาน 2.ควบคุมไม่ได้ หมายถึง สภาพอากาศปิด เพดานอากาศต่ำ ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ แต่ไม่แม่นยำ 100% รวมถึงปริมาณฝนน้อยลง และสภาพความแห้งแล้งที่ก่อให้เกิดไฟป่า ทำให้ปัญหาหมอกควันฝุ่นPM2.5มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่เกิดฝุ่นPM2.5จากสภาพการจราจรและการเผาในที่โล่งบางส่วน แต่ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงเท่าจังหวัดในภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

 

นายจตุพร กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีมอบนโยบาย 4 เรื่อง คือ 1.แม่นยำ 2.ต้องรวดเร็ว 3.ต้องทันท่วงที 4.มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการสื่อสารและสร้างการรับรู้แก่ประชาชน และมีการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นให้สูงขึ้น เพื่อกระตุ้นการตื่นตัวต่อปัญหาฝุ่นPM2.5ที่เกิดขึ้น 

 

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ปีนี้ฝุ่นมาเร็ว กทม.ปรับมาตรฐานค่าฝุ่นเข้มข้นขึ้น จากเดิมปี 2565 ระดับสีส้ม (คุณภาพอากาศเริ่มกระทบสุขภาพ) มีค่าฝุ่น 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น 37.6 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรทำให้มีความเข้าใจว่าในปีนี้ค่าฝุ่นระดับสีส้มเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งเป็นหลักการให้เกิดความตื่นตัวและเร่งมาตรการแก้ไขป้องกัน ซึ่งควรร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยภาครัฐต้องดำเนินการเรื่องนี้เต็มที่ ประกอบกับประชาชนมีความตื่นรู้ ในส่วนของ กทม.ได้กำหนดมาตรการให้ทุกโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง ชักธงบอกค่าฝุ่น เพื่อให้นักเรียนรับรู้ถึงสถานการณ์ในแต่ละวัน สร้างการเรียนรู้เรื่องฝุ่นPM2.5มากขึ้น ซึ่งนักเรียนในสังกัดกทม.กว่า250,000 คน จะได้นำข้อมูลเรื่องฝุ่นที่ได้จากโรงเรียนไปเผยแพร่ครอบครัวและบุคคลภายนอก เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันฝุ่นของประชาชนต่อไป

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ หากมีการพยากรณ์ที่แม่นยำจะช่วยเรื่องการกำหนดวัน Work from home ได้มากขึ้น เพื่อลดการใช้รถยนต์ กรณีค่าฝุ่นสูงถึงระดับอันตรายต่อสุขภาพ (สีแดง) โดยสภาวะฝุ่นเริ่มแรกเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวเกิดจากรถยนต์ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงต้นปีฝุ่นส่วนใหญ่จะเกิดจากการเผาชีวมวล เช่น เผาฟางข้าว อ้อย ส่งผลให้ฝุ่นลอยข้ามแดนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลอาจมีมาตรการควบคุมมากขึ้น ส่วนกทม.ได้จัดทำแผนที่จุดเสี่ยงฝุ่น เช่นโรงงาน โรงปูน อู่พ่นสี สถานที่ก่อสร้าง รวมถึงกิจกรรมที่ก่อฝุ่น สามารถตรวจสอบและควบคุมป้องกันฝุ่นPM2.5ได้รวมถึงมีระบบตรวจวัดฝุ่นPM2.5 จำนวน 722 จุด ซึ่งร่วมกับเอกชน ในอนาคตตั้งเป้าเพิ่มให้ครบ 1,000 จุด และการปรับปรุงแอพพลิเคชั่น Air bkk เพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางและการทำงานได้ ในสภาวะฝุ่นที่มาจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นดังกล่าวเปิดใช้แล้ว

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนกรณีเผาชีวมวลในเขตหนองจอก คลองสามวา มีนบุรี ที่มีการทำเกษตรกรรม จะมีการติดตามการเผาผ่านภาพถ่ายดาวเทียม หากพบ จะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจเข้าไปดำเนินการจับกุมผู้เผา ส่วนการกำจัดฝุ่นที่ต้นตอ กทม.เน้นตรวจที่ต้นกำเนิดฝุ่น เช่น อู่รถเมล์ รถในโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จ รถในจุดก่อสร้างและท่าเรือ ที่ผ่านมา กทม.ตรวจรถยนต์ไปแล้วโดยประมาณ 135,000 คัน ไม่ผ่านมาตรฐาน 2,141 คัน รถโดยสาร 37,000 คัน ไม่ผ่าน217 คัน รถบรรทุก 92,000 คัน ไม่ผ่าน 529 คัน ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการเผาสามารถแจ้งผ่านช่องทางของกทม.ได้ โดยจะได้รับค่าแจ้งเบาะแสครึ่งหนึ่ง จากอัตราค่าปรับ 2,000 บาท เพื่อจูงใจในการช่วยกันป้องกันฝุ่นPM2.5มากขึ้น ส่วนมาตรการลดการเผาเชิงเกษตรกรรม กทม.ได้สนับสนุนรถอัดฟางแก่เกษตรกรมากขึ้น เพื่อลดการเผาฟางเปลี่ยนเป็นรายได้จากการขายฟางอัดก้อนทดแทน รวมถึงการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ 300 เครื่องในศูนย์เด็กเล็ก และในโรงเรียนอนุบาลประมาณ 1,734 เครื่อง ตามโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีบริษัทร่วม Work from home จำนวน 50 แห่ง พนักงานประมาณ 40,500 คน กรณีกทม.ประกาศขอความร่วมมือเมื่อค่าฝุ่นสูง หากขยายเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนได้มากขึ้น ประกอบกับมีการพยากรณ์ที่แม่นยำ จะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องฝุ่นได้มากขึ้น สิ่งสำคัญตอนนี้คือควบคุมการจราจร โดยเฉพาะการควบคุมรถเก่าในพื้นที่ต่าง ๆ