ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

สำนวนไทยว่า”พ่อแม่คือพรหมของลูก” แต่ในยุคนี้ “เมื่อสังคมไม่ดีอย่ามี(ลูก)เสียดีกว่า”

ในวัฒนธรรมของครอบครัวคนจีน การมีญาติพี่น้องเยอะ ๆ คือความยิ่งใหญ่งอกงามของวงศ์ตระกูล จึงให้ความสำคัญกับการมีลูกเยอะ ๆ นั้นด้วย โดยเฉพาะลูกชายที่จะมาเป็นผู้สืบตระกูล เช่นเดียวกันกับครอบครัวของอมรและเอมอร ก็ยังมีความเชื่อเช่นนั้นอย่างฝังแน่น ด้วยเหตุนี้เมื่อทั้งสองแต่งงานกันแล้ว ก็พยายามที่จะมีลูกในทันที จนเวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่าก็ยังไม่สมหวัง ทั้งสองจึงตัดสินใจไปหาหมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการมีบุตร จากการตรวจร่างกายของทั้งคู่ก็พบว่าเป็นความบกพร่องของอมรนั้นเป็นหลัก แม้อมรจะไม่ได้บอกใครว่าเป็นความบกพร่องในเรื่องอะไร แต่คนที่อยากรู้ก็สามารถค้นหาคำตอบได้ ซึ่งก็ไม่ใช้ปัญหาร้ายแรง เพียงแต่จะต้องใช่ความพยายามและเวลาในการรักษาพอสมควร และถ้าโชคดีก็อาจจะกลับมามีบุตรได้

ในหมู่เครือญาติของทั้งสองครอบครัว บางคนก็ยังหัวโบราณมาก ๆ เพราะยังเชื่อว่าอาจจะเป็นเรื่องของ “เวรกรรม” ที่ต้องมีการแก้ไข แบบที่เรียกว่า “แก้กรรม” บ้าง “ล้างกรรม” บ้าง จึงแนะนำให้ทั้งคู่ไปหาหมอดูบ้าง ซินแสบ้าง เพื่อหาคำตอบในความสงสัยนั้น รวมถึงแนะแนวทางในแก้ไข ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ทั้งคู่ยอมเชื่อและไปตามคำแนะนำของญาติ ๆ เหล่านั้น (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือญาติผู้ใหญ่ที่ไม่ควรจะปฏิเสธ หรือถ้าในธรรมเนียมของครอบครัวคนจีนก็คือต้องเชื่อฟังผู้อาวุโส) บ้างก็ให้ใช้ยาจีนและสมุนไพรต่าง ๆ บ้างก็ให้ไปถือศีลกินเจ และบ้างก็ให้ทำพิธีกรรมแปลก ๆ ซึ่งถ้าไม่ลามกหรือลำบากจนเกินไป ทั้งคู่ก็ยอมทดลองทำตาม รวมทั้งที่แนะนำให้ไปทำพิธีกรรมต่าง ๆ ยังในสถานที่ไกล ๆ ในบางจังหวัดตลอดจนในต่างประเทศ ที่บรรดา “ผู้รู้” เหล่านั้นบอกว่าเขาทั้งสองได้ “สร้างกรรม” นั้นขึ้น ซึ่งทั้งสองก็ถือโอกาสไปท่องเที่ยวหรือ “เปลี่ยนบรรยากาศ” ไปในตัว แม้กระทั่งพิธีกรรมที่เป็นไสยศาสตร์ที่ดูแหวกแนวน่ากลัว ทั้งสองก็ยอมร่วมพิธี โดยทำใจว่าเป็น “การผจญภัย” หรือหาประสบการณ์ใหม่ ๆ

ญาติบางคนก็ดูว่าจะมีความคิดในแนวสมัยใหม่ โดยญาติเหล่านี้ก็ไม่มีลูกเช่นกัน เมื่อมาเจอทั้งคู่ในงานรวมญาติตามเทศกาล ก็เข้ามาปลอบใจ โดยเล่าถึงครอบครัวของตัวเอง ว่าก็ไม่ได้คิดจะมีลูก แต่ก็ไม่กล้าบอกกับพ่อแม่หรืออาม่าอากง ได้แต่คุยกันเอง โดยญาติคู่นี้ก็ถูกหมั้นหมายกันมาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยเช่นกัน โดยได้แต่งงานกันไปก่อนที่จะไปเรียนต่างประเทศด้วยกัน ทั้งคู่ชอบใช้ชีวิตอิสรเสรี ซึ่งทำไม่ได้ที่เมืองไทย เมื่อไปอยู่เมืองนอกจึงใช้ชีวิตตามแบบที่ชอบอย่างเต็มที่ ซึ่งฝรั่งชอบที่จะอยู่ด้วยกันแม้จะยังไม่แต่งงาน ด้วยถือว่าเป็นการทดลองการใช้ชีวิตคู่ ถ้ายังไม่ถูกใจกันหรือรสนิยมไม่เข้ากัน ก็แยกทางกันได้ง่าย ๆ รวมถึงที่หาคู่มาอยู่ด้วยคนใหม่ อันถือว่าเป็นปกติในการใช้ชีวิตของหนุ่มสาวที่นั่น

คู่แต่งอิสรเสรีคู่นี้บอกว่า เขาทั้งสองมีเหตุผลอื่นที่จะแค่อยู่ด้วยกันแล้วไม่มีลูก ก็คือยังไม่มั่นใจในอนาคตของลูกที่จะเกิดมา ทั้งสองให้คำอธิบายว่าโลกในยุคต่อไปอาจจะเจอปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่เพียงแต่ภัยธรรมชาติ จำพวกมลภาวะ หรืออุบัติภัยต่าง ๆ ที่รวมถึงภัยจากภายนอกโลก เช่น ดาวหางพุ่งชน หรือคลื่นสุริยะ แต่อาจจะมีปัญหาจากสังคมในโลกนั่นเอง เช่น อาชญากรรมที่สูงขึ้น ผู้คนจิตใจวิปริต จนถึงครอบครัวแตกแยก เหล่านี้ย่อมไม่แฟร์สำหรับเด็กที่จะเกิดมา ที่จะต้องมารับภาะในอนาคตอันเกิดจากความสุขทางเพศของพ่อแม่ ดังที่ได้เห็นว่ามีเด็กในสภาพเหล่านี้มากมาย เช่น เด็กกำพร้า เด็กจรจัดขอทาน และเด็กที่ก่ออาชญากรรมต่าง ๆ

ทั้งคู่บอกว่า แม้แต่ในครอบครัวของคนรวยหรือคนชั้นสูง ปัญหาลูก ๆ ในครอบครัวก็หนักหนาสาหัสเช่นกัน หลายครอบครัวตามใจหรือเลี้ยงดูลูกแบบที่ทำให้เสียคน ลูกกลายเป็นคนก้าวร้าว เอาแต่ใจ และเกะกะระรานผู้คน ด้วยคิดว่ามีพ่อแม่หรือญาติที่ใหญ่โตคับบ้านคับเมือง หรือไม่ก็ด้วยความที่มีกินมีใช้เหลือเฟือ ก็ใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ กระทั่งเสพยาเสพติด และสำส่อนทางเพศ เหล่านี้ย่อมเป็นสภาพที่อเนจอนาถ และสร้างภาระปัญหาให้กับสังคมแบบงูกินหางไปไม่รู้จบสิ้น หรือบางทีแม้ว่าครอบครัวเหล่านั้นจะเลี้ยงและอบรมลูก ๆ เป็นอย่างดี ให้เป็นคนดี แต่เมื่อเด็ก ๆ เหล่านี้ออกไปเผชิญโลกที่สกปรกเลวร้าย ก็คงจะเอาตัวรอดได้ลำบาก และบางคนก็อาจจะถูกหล่อหลอมให้เป็นคนไม่ดีตามไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นสองคนนี้ยังพรรณนาถึงความเลวร้ายในโลกสมัยใหม่ ทั้งระบบทุนนิยมสามานย์ การเมืองสกปรก สังคมลามก และชีวิตที่มืดมน ไม่อาจจะรู้อนาคตได้ ซึ่งไม่ควรปล่อยให้ลูก ๆ ที่พ่อแม่บอกว่ารักนักหนาปานแก้วตาดวงใจนั้น “มาผจญกรรม”

อมรกับเอมอรต้องเผชิญกับหลากความคิดหลายความเห็นของผู้คนมากมาย ดีที่ว่าทั้งสองคนมีความอดทนและอดกลั้นในการที่จะแสดงความเห็นตอบโต้ แม้บางทีจะไม่เห็นด้วย หรือบางทีก็อยากแนะนำคนเหล่านั้นกลับคืนไปบ้าง โดยส่วนใหญ่ทั้งคู่จะนิ่งเงียบ หรือถ้ารำคาญนักแต่ตัดบทไม่ได้ก็จะอือ ๆ ออๆ เหมือนว่าเห็นด้วยหรือเชื่อฟังตามนั้น แต่ระหว่างนั้นพวกเขาก็กลับเอามาคิดและปรึกษาหารือกัน โดยเมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี พวกเขาจึงสรุปที่จะไม่พยายามมีลูกอีกต่อไป โดยเริ่มต้นก็เอาเหตุผลแบบที่คู่ชีวิตอิสระที่มองโลกในแง่ร้ายมาก ๆ นั้นมาปลอบใจ แต่พอคิดไปอีกทีและมองให้รอบด้าน รวมถึงการมองโลกในด้านดีอันเป็นลักษณะนิสัยที่ทั้งคู่มีมาโดยตลอด ก็ทำให้ฉุกคิดและปรับเปลี่ยนมุมมอง

อมรกับเอมอรไม่ใช่คนคลั่งศาสนาหรือยึดถือเคร่งครัดในจารีตนิยมใด ๆ แต่กระนั้นก็ไม่อยากทำให้ญาติพี่น้องมองว่าทั้งสองเป็นคนแหกคอก อย่างที่เขาได้รับฟังและทำตามคำแนะนำของทั้งญาติหัวเก่าและญาติหัวใหม่เสมอมา โดยที่ทั้งสองก็พยายามรักษาความเป็นตัวของตัวเอง เมื่อผ่านพ้นช่วงที่รับฟังและทำตามคำแนะนำทั้งหลายนั้นแล้ว พวกเขาก็มาสรุปเรื่องราวและคิดหาทางออกหรือแก้ปัฐหาด้วยเขาทั้งสองนั้นต่อไป

เรื่องแรกพวกเขาเห็นว่า เขาทั้งคู่คงจะพยายามที่จะมีลูกต่อไปไม่ไหว ไม่ใช่เพราะรับภาระค่าใช้จ่ายที่แพงลิบลิ่วปีละเป็นล้าน ๆ บาทนั้นไม่ได้ แต่เป็นเพราะมองไม่เห็นหนทางที่จะมีลูกได้จริง ๆ จึงมองถึงหนทางที่จะทำให้ชีวิตเป็นปกติและมีความสุขได้แม้จะไม่มีลูกนั้นต่อไป

เรื่องที่สองการใช้ชีวิตไปหมกมุ่นในการอยากจะมีลูกนั้น ทำให้ชีวิตด้านอื่น ๆ ของทั้งคู่เสียสมดุล ทั้งในเรื่องของความเป็นสามีภรรยา การงานอาชีพที่จะต้องรับผิดชอบส่วนตัว ส่วนครอบครัว และส่วนของลูกน้องในบริษัท และที่สุดคือ “คำนินทา” ของผู้คนทั้งที่อยู่ใกล้และไกล ซึ่งการยอมรับความจริงในเรื่องการไม่ต้องการที่จะมีลูกอีกต่อไป ได้แก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ได้มากโข

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นผลจากปัญหาที่ทั้งคู่แบกรับไว้เป็นเวลานาน ๆ ข้างต้น ได้ทำให้พวกเขามองเห็น “ทางสว่าง” ที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่า ไม่เพียงแต่กับตัวของเขาทั้งสองคน แต่รวมไปถึงญาติพี่น้องและคนที่มีปัญหาอยู่รอบตัวของเขาทั้งสองนั้นด้วย

“ทางสว่าง” นั้นยังส่องกระจายถึงสังคมโดยส่วนรวม และเป็นแนวทางที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ